กรมศุลฯเผยผลจัดเก็บรายได้ต.ค.62 ที่ 5.21 หมื่นลบ. เร่งเชื่อมโยงข้อมูล ASEAN Single Window อีก 3 ประเทศที่เหลือ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 12, 2019 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยถึงการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรในเดือนต.ค.62 ว่า ในเดือนต.ค.62 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 52,192 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้ศุลกากร จัดเก็บได้จำนวน 8,701 ล้านบาท โดยต่ำกว่าประมาณการ 99 ล้านบาท หรือ 1.1% และมีการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น จำนวน 43,491 ล้านบาท

ส่วนความก้าวหน้าของระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (National Single Window) นั้น พบว่าผลการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้เอกสาร ระหว่างกรมศุลกากรกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) ประมาณเดือนละ 10 ล้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ มีผู้ประกอบการลงทะเบียนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 9,000 ราย ซึ่งดำเนินการแทนผู้นำเข้าส่งออกของกว่าหนึ่งแสนราย

สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 นี้ คือ โครงการระบบคำขอใบอนุญาต/ใบแจ้งเพื่อนำเข้า-ส่งออก สินค้าเกษตรแบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563

ส่วนการดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับ ASEAN Single Window (ASW) นั้น ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูล ATIGA FORM D ร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแบบไร้เอกสารแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, บรูไน และกัมพูชา โดยคงเหลืออีก 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา, ฟิลิปปินส์ และลาว

ขณะที่การเตรียมความพร้อมการแลกเปลี่ยนเอกสารอื่น ๆ เพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ประกอบด้วย 1. เอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto Certificate) สำหรับใช้แลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานที่ควบคุมกำกับดูแลเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยของพืชและผลิตผลพืช ตามที่ไทยแจ้งความพร้อมกับประเทศสมาชิกอาเซียน คาดว่าไทยจะเข้าร่วมทดสอบภายในไตรมาสแรกของปี 2563 และ 2. ใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document: ACDD หรือ Export Information) ซึ่งใช้แลกเปลี่ยนเพื่อการบริหารความเสี่ยงโดยศุลกากรประเทศนำเข้า โดยไทยเริ่มต้นทดสอบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวด้วยว่า กรมฯ ได้ออกประกาศกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากร ณ เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค.62 ซึ่งเป็นระเบียบเกี่ยวกับเขตปลอดอากรตามกฎหมายศุลกากร สำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้า e-Commerce ในเขต EEC ซึ่งประกาศกรมฯ ดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ลงทุนไว้ โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนเพียงรายหนึ่งรายใดเท่านั้น

โดยประโยชน์ที่ผู้ลงทุนในเขต EEC จะได้รับตามร่างประกาศกรมฯ คือ 1. ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยเป็นพิธีการศุลกากรที่สะดวกเรียบง่าย ให้จัดทำใบขนสินค้าอย่างง่ายตามแบบที่กำหนด 2. ดำเนินการด้วยความรวดเร็วทันสมัย โดยนำใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้งาน ได้แก่ การควบคุมการเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ การใช้เทคโนโลยี QR CODE ในการบันทึกข้อมูลสินค้า การตรวจสอบสินค้าด้วยการเอกซเรย์บนระบบสายพาน การจัดทำบัญชีสินค้าคงคลังอิเล็กทรอนิกส์ (e-Inventory) เป็นต้น 3. ได้รับยกเว้นใบอนุญาตสำหรับสินค้าที่นำเข้าเก็บในเขตปลอดอากร EEC และ 4. ยังไม่ต้องชำระค่าอากรขาเข้าทันที ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกประกาศกำหนดไว้

ส่วนประโยชน์ที่ผู้ส่งออกสินค้า e-Commerce ในประเทศไทยผ่านทางเขต EEC จะได้รับตามร่างประกาศกรมฯ คือ เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออกสินค้า e-Commerce ในประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP ไปขายยังต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นสากล เพื่อให้เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ