จีน-ฮ่องกงเซ็น MOU ซื้อยางพารากว่า 2.6 แสนตัน มูลค่า 1.3 หมื่นลบ. กระตุ้นยกระดับราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 13, 2019 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่ได้นำภาคเอกชนไปเปิดตลาดยางพาราที่ประเทศอินเดีย ล่าสุด การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถเจรจาซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศกับผู้ซื้อเบื้องต้นจำนวน 2 ราย คือ 1. บริษัทเอกชนจากจีน (Hengfeng Rubber Industrial park limited) ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 60,480 ตัน และ 2. บริษัทเอกชนจากฮ่องกง (Fifth Trading (HK) Co.,Ltd) ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 100,000 ตัน และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน 100,000 ตัน รวมปริมาณการซื้อขายรอบนี้ ทั้งสิ้น 260,480 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

โดยหลังจากนี้ กยท.จะรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรและสถาบันที่ราคาชี้นำมาขายต่อไป ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทย ดังนี้ คือ 1. ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดของ กยท.และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก 2. ยกระดับราคายางไปสู่ราคาเป้าหมายนำ 3.สร้างแบรนด์ กยท.ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มธุรกิจยางทั่วโลก เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเจรจาซื้อขายโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรอบนี้แล้ว ในวันที่ 15-19 พ.ย.62 กระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ จะนำคณะเดินทางไปเปิดตลาดยางที่ประเทศตุรกีและเยอรมนีต่อไป

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท ตามนโยบายของรัฐบาลและตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยสามารถ "ทำได้ไว ทำได้จริง" ภายในเวลาเพียง 98 วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเกษตรกรชาวสวนยางได้ขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.ก่อนวันที่ 12 ส.ค.62 ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป ราคาในโครงการประกันรายได้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท, น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท, ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท และเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท.จำนวน 1,711,252 ราย เป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย ซึ่งโครงการนี้ kick off จ่ายเงินงวดแรกพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการเสริม หรือมาตรการคู่ขนาน คือ 1. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. จำนวน 388 แห่ง เป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้จริงจาก ธ.ก.ส. จำนวน 375 แห่ง เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท

2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 - 31 ธ.ค. 63

3. โครงการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (น้ำยางข้น) (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน พ.ค. 60 - เม.ย. 62

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) เพื่อดูดซับยางออกจากระบบประมาณ 11% ของผลผลิตยางแห้ง หรือ 350,000 ตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปี ที่มีประมาณ 3,200,000 ตัน

5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 59 – 69 เป้าหมายเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางจากยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เน้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม และอื่นๆ

6.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง

7.โครงการสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม (พ.ย.57-พ.ย.62) (งบประมาณ 15,000 ล้านบาท)

8. โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ (แบ่งเป็นชาวสวน 1,100 บาท/คนกรีด 700 บาท) ระหว่าง ธ.ค.61-ก.ย.62 (งบประมาณ 17,007 ล้านบาท)

9. โครงการบริหารจัดการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของสถาบันเกษตรกร โดยให้ใช้สินเชื่อจากสภาพคล่อง ธ.ก.ส. ในวงเงิน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.61 - 28 ก.พ.63

10.โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ (parasoil-cement) ทั่วประเทศจำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กม. รวมระยะทาง 75,032 กม.(ระยะเวลาดำเนินงาน เดือน ธ.ค.61 - ก.ย.62 เงินงบประมาณ 92,327 ล้านบาท)

11.โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ มุ่งผลักดันนโยบายการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐใช้วัตถุดิบยางพาราจากชาวสวนยางและสถาบันเกษตรชาวสวนยาง

12.คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการยางที่มีปริมาณการรับซื้อตั้งแต่เดือนละ 5,000 กก.ขึ้นไป แจ้งปริมาณการซื้อ ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการใช้ไป ปริมาณคงเหลือ และสถานที่เก็บสินค้ายางพารา ตลอดจนให้จัดทำบัญชีคุมรายวัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา

ด้านนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่า กยท. กล่าวว่า สถานการณ์ยางพาราประสบกับความท้าทายทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่ช่วงหลังราคายางเริ่มกระเตื้องขึ้น จากหลายปัจจัย เช่น 1. ความต้องการในตลาดโลกที่มากกว่าการผลิต 2. พื้นที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากมีการปลูกแบบผสมผสาน ทำให้ราคาสูงขึ้นในตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศ 3.นโยบายยกระดับราคายางจากรัฐบาล 4. ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นส่งผลให้ราคายางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม การยกระดับราคายางต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ราคายางเริ่มปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ