"ชาติศิริ" มองการเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนหนุนเกิดบริการใหม่เปิดกว้างโอกาสลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 14, 2019 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2019 ภายใต้หัวข้อ 2020: The Age of ASEAN Connectivity ว่า จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลลัพธ์ และความก้าวหน้าอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างภูมิภาคอาเซียนที่ขยายตัวขึ้นกว่า 10%, ขนาดเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของภูมิภาคในปีนี้เติบโตถึง 5.2% ด้วยมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และกลายเป็นภูมิภาคที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก

ทั้งนี้ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และเครือข่ายดิจิทัล ได้ส่งเสริมการเติบโตของภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกันของประเทศต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงทางธุรกิจ และผู้บริโภคเข้ากับโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ อีกทั้งการยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างกันของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโต และความมั่งคั่ง จากการประสานพลัง และการพัฒนาอาเซียนบนความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่มุ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศมาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ มีการเติบโตราว 20-30 % ต่อปี และในเวียดนามและ อินโดนีเซีย มีการเติบโตที่มากกว่า 40% ส่งผลทำให้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเกิดขึ้นในอาเซียนจำนวนมาก

ขณะที่การเชื่อมโยงทางการเงินในภูมิภาคได้ก่อให้เกิดบริการใหม่ๆมากมาย เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านดิจิทัล เช่น Enterprise Blockchain สำหรับบริการทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ และการโอนเงินระหว่างประเทศ, บริการ e-wallet, การนำ eKYC มาใช้ในบริการธนาคารดิจิทัล และการชำระเงินผ่าน QR Code เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ ลดภาระงานเอกสาร ลดข้อจำกัดด้านการค้า ตลอดจนลดต้นทุนการทำธุรกรรมแบบข้ามพรมแดนลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาส และแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้านเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันรวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับทิศทางการเติบโตในอนาคต การพัฒนาศักยภาพแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ และการส่งผ่านเทคโนโลยีไปสู่ธุรกิจระดับกลางและเล็ก

"ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อาเซียนหรือ AEC ก้าวต่อไปข้าวหน้า ประกอบด้วยกัน 3 ด้าน คือ regionalization การเชื่อมโยงกัน การสานสัมพันธ์กัน, urbanization และ Digital transformation"นายชาติศิริ กล่าว

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ประเทศอาเซียนในวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากวันแรกที่เริ่มเปิด AEC เป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการและนักลงทุนจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ตลอดจนศึกษาถึงปัจจัยที่ควรต้องระวัง ซึ่ง BBL ในฐานะธนาคารที่มีเครือข่ายสาขาครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศอาเซียน และ มีบริการทางการเงินครบวงจร พร้อมช่วยให้คำแนะนำในการปรับตัว และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากโอกาสการลงทุนที่เปิดกว้างในอาเซียน

ทั้งนี้ BBL ได้จัดตั้งศูนย์ AEC Connect ที่ให้คำแนะนำด้านการค้า และ การลงทุนสำหรับผู้ที่สนใจดำเนินธุรกิจใน AEC ผ่านกิจกรรมต่างๆ หลายด้าน เช่น การจัดงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum โครงการ AEC Business Leader และ งานสัมมนา AEC Investment Clinic ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของธนาคารในการเป็น "เพื่อนคู่คิด" ที่จะสนับสนุนลูกค้าให้ก้าวสู่ความสำเร็จทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน BBL มีสาขาทั่วโลก 31 สาขา และมีสาขาอยู่ใน AEC จำนวน 16 สาขา ได้แก่ อินโดนีเซีย 3 สาขา, มาเลเซีย 5 สาขา, ลาว 2 สาขา, เมียนมา 1 สาขา, สิงคโปร์ 1 สาขา, เวียดนาม 2 สาขา, กัมพูชา 1 สาขา และ ฟิลิปปินส์ 1 สาขา โดยมีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศคิดเป็น 17% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งสินเชื่อในกลุ่ม AEC มีการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับลูกค้าจะเป็นเทรดไฟแนนช์เป็นส่วนใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ