สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/62 เติบโต 2.4% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 ขยายตัวจากไตรมาส 2/62 ราว 0.1%
ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5%
สศช.ระบุว่า ในไตรมาส 3/62 ด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายของรัฐบาล ในขณะปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง
ด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัว การผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวเร่งขึ้น การผลิตสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การผลิตสาขาการขยายส่งและการขยายปลีก สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซฯ ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนสาขาอุตสาสหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ส่วนทั้งปี 62 คาดว่าจะเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง -2.0% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 4.3% และ 2.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2% ของ GDP
สศช.ยังเปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจในไทยปี 63 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 2.7-3.7% โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐและเอกชน การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 2.3% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 3.7% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.6% ของ GDP