(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 3/62 โต 2.4% คาดทั้งปีโตราว 2.6% ส่งออกหดตัว -2% กดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2019 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/62 เติบโต 2.4% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/62 ขยายตัวจากไตรมาส 2/62 ราว 0.1%

ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5%

สศช.ระบุว่า ในไตรมาส 3/62 ด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน โดยขยายตัวในเกณฑ์ดี 4.2% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะดัชนีปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล และดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งขยายตัว 8.3%, 4.7% และ 5.0% ตามลำดับ

ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปรับตัวลดลง 6.5% ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 60.8 เทียบกับระดับ 64.8 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวม 9 เดือนแรกของปี 62 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัว 2.1%

การลงทุนรวม เพิ่มขึ้น 2.8% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.4%เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัว 3.1% ในขณะที่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างทรงตัว ส่วนการลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 3.7% เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้น 1.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลขยายตัว 5.6% ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลง 0.8%

สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 21.6% เทียบกับอัตราการเบิกจ่าย 16.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 19.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 62 การลงทุนรวมขยายตัว 2.6% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.7% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.0%

ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,295 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัว เทียบกับการลดลง 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลง 0.4% ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.4% กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น น้ำตาล ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รถกระบะและรถบรรทุก รถจักรยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และผลไม้ เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์นั่ง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น การส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และตะวันออกกลางขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียนและสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลง 4.8% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 6.9%

รวม 9 เดือนแรกของปี 62 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 183,700 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง 2.7% โดยปริมาณการส่งออกลดลง 3.0 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5,748 พันล้านบาท ลดลง 5.3%

ส่วนทั้งปี 62 คาดว่าจะเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.6% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลง -2.0% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 4.3% และ 2.7% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.8% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.2% ของ GDP

สศช.ยังเปิดเผยแนวโน้มเศรษฐกิจในไทยปี 63 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 2.7-3.7% โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐและเอกชน การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวของภาคการส่งออกต่อมาตรการกีดกันทางการค้า การดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 2.3% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 3.7% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.6% ของ GDP


แท็ก สภาพัฒน์   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ