(เพิ่มเติม) รมว.คลัง สั่งเกาะติดภาพรวมศก.พร้อมดันออกมาตรกระตุ้นอีกรอบหากจำเป็น,รมว.อุตฯ แนะแบงก์ชาติกดบาทอ่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2019 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มก็ยังมีเวลาเหลืออีก 1 เดือนครึ่งก่อนปิดสิ้นปีนี้ เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 2.6%

"สภาพัฒน์กังวลว่าหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใด ๆ เพิ่มอีกจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามที่ประเมินไว้" นายอุตตม กล่าว

สำหรับการประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจปี 62 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ระบุว่าไตรมาส 3/62 ขยายตัวที่ 2.4% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/62 ที่ขยายตัว 2.3% ถือว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกหดตัวลงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการมาตั้งแต่ไตรมาส 3/62 ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมยังเป็นเช่นนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้คงจะเติบโตได้ตามระดับที่ สศช. ประเมินที่ 2.6% ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 2.8%

ล่าสุดกระทรวงการคลังได้เร่งรัดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปได้ตามแผน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในไตรมาส 4/62 เข้ามาเพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่มีการปิดโรงงานในช่วงที่ผ่านมานั้น นายอุตตม กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วพบว่ามีการเปิดโรงงานมากกว่าการปิด ถึงแม้จะมีการลดกำลังการผลิตลง แต่เม็ดเงินลงทุนของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.3 แสนล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของช่วงที่ผ่านมา 36.3% ปัจจัยนี้จะเป็นอีกตัวช่วยในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

ขณะที่การบริโภค พบว่ายังอยู่ในระดับทรงตัว โดยหากดูจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในประเทศยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนมาตรการ"ชิมช้อปใช้" ระยะที่ 3 หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนพบว่าไม่ได้รับความนิยมเหมือนระยะก่อนหน้า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจมากนัก เพราะเป็นการขยายผลมาตรการในระยะที่ 3 และต่อยอด จึงอยากให้มองในภาพรวมของมาตรการทั้งหมดทุกระยะว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งกระทรวงการคลังกำลังติดตามและประเมินอยู่

รมว.คลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือเพื่อติดตามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้มีการพูดคุยถึงกรอบการทำงานเพื่อดูแลเศรษฐกิจ โดยนโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ ธปท. จะตัดสินใจ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศช.แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 ได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกที่ยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าที่ยืดเยื้อและสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวลง นอกจากนี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทสูงในเศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่ชะลอลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในส่วนของการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการของโรงงานเดิมพบว่าในช่วง 1 ม.ค.-12 พ.ย.62 มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นในกิจการโรงงาน 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 36.3% สะท้อนว่าภาพรวมการผลิตในอนาคตมีแนวโน้มขยายตัว

และแม้ว่าในช่วง 1 ม.ค.-12 พ.ย.62 จะมีกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการ แต่การขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่มีถึง 2,889 โรงงานมากกว่าปิดกิจการ 107% และโรงงานที่เปิดอยู่เดิมก็ยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมอีกจำนวน 928 โรงงาน ขณะเดียวกันในส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่ 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน

สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ายังประเทศไทยในไตรมาส 3/62 ขยายตัวสูงถึง 7.2% เร่งขึ้นจากไตรมาส 2/62 ที่ขยายตัว 1.4% ในด้านการบริโภคภาคเอกชน รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศณ ราคาคงที่ (ที่หักรายได้พิเศษ) ขยายตัว 1.9% สูงขึ้นจากไตรมาส 2/62 ที่ขยายตัว 1.5% สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องในไตรมาส 4/62 และปี 63 ขณะเดียวกันก็มีเครื่องชี้ที่สะท้อนแนวโน้มในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ รายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ณ ราคาคงที่(ที่หักรายได้พิเศษ) ล่าสุด ในเดือน ต.ค.62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 6% ต่อเนื่องจากไตรมาส 3/62 ที่ขยายตัว 1.9%

ทั้งนี้ รมว.คลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการขับเคลื่อนชุดมาตรการด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ "ชิมช้อปใช้เฟส 1"มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพสำหรับสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง มาตรการพักหนี้กองทุนหมู่บ้านของ ธ.ก.ส.และมาตรการกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศ

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ซึ่งประกอบด้วย มาตรการ "ชิมช้อปใช้เฟส 2"และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ และล่าสุดมาตรการ "ชิมช้อปใช้เฟส 3" เมื่อวันที่ 12 พ.ย.62 อีกทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 62 นี้ เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มในไตรมาส 3 สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่ในไตรมาส 4 โดยกระทรวงการคลังจะประเมินสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและพร้อมที่จะพิจารณามาตรการดูแลเศรษฐกิจที่เหมาะสมต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การปิดโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท จากระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ มาเป็น 30 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 10% ซึ่งมองว่า ธปท. จำเป็นต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมากกว่านี้ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาเติบโตได้เป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขายในประเทศขายต่ำกว่าทุน แต่ค่าเงินบาทที่ผ่านมาไม่ได้แข็งค่ามากนัก ทำให้การส่งออกรถยนต์ยังมีกำไร ผู้ประกอบการสามารถนำรายได้จากการส่งออกมาชดเชยในประเทศ แต่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น การส่งออกรถยนต์ก็ขาดทุน การขายในประเทศก็ไม่ได้กำไร ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์เกิดปัญหา จนต้องลดการผลิต ลดการจ้างงานลง

ทั้งนี้ ภายในเดือนนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งลงพื้นที่เพื่อหารือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ ถึงความต้องการในการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพราะเสียงสะท้อนของภาคเอกชนสำคัญมาก จะทำให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการช่วยเหลือได้ตรงจุด และอุตสาหกรรมฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

"แม้ว่าที่ผ่านมา ธปท.จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย และออกมาตรการเพื่อดูแลเรื่องเงินทุนไหลออก เพื่อทำให้เงินบาทแข็งค่าน้อยลง แต่มองว่า ธปท.ยังสามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องช่วยเหลือกัน ธปท.ต้องทำมากกว่าที่ทำในปัจจุบัน" นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดขั้นตอนการขออนุญาตเปิดโรงงานใหม่ ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีการประสานกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาสถานการณ์ หากมีความจำเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจะออกมาตรการเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ