เบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินของสภาคองเกรสสหรัฐว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้อยู่ในระยะ Stagflation (ภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยแต่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970
"ผมไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะ Stagflation แม้มีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงและตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรายอมรับว่าการที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นและตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้นทำให้การดำเนินงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อของเฟดมีความซับซ้อนมากขึ้น"
เบอร์นันเก้กล่าวว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์สินเชื่อ แต่มีธนาคารอีกหลายแห่งที่เสี่ยงจะล้มละลาย โดยนับตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ล้มละลายไปแล้ว 3 แห่ง เนื่องจากขาดทุนในตลาดปล่อยกู้จำนอง
"เรายอมรับว่ารู้สึกกังวลเรื่องความเสี่ยงทุกด้านที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ เราพยายามกระจายความเสี่ยงเหล่านี้ และคาดว่าตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวมจะชะลอตัวลงสู่ระดับปานกลางในปีนี้และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ" เบอร์นันเก้กล่าว
ทั้งนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "มาตรการที่เฟดจะต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟดยอมรับว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญช่วงขาลง"
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ก่อนที่เบอร์นันเก้จะแถลงนโยบายเศรษฐกิจครั้งล่าสุดนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2550 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% หลังจากขยายตัวแข็งแกร่งที่ 4.9% ในไตรมาส 3 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% ส่วนจีดีพีตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545
ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% ในไตรมาส 4 ลดลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 2.8% ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ตัวเลขจีดีพีที่อ่อนแอของสหรัฐและการแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของเบอร์นันเก้ อาจทำให้เฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 18 มี.ค.นี้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--