(เพิ่มเติม) ธปท.เผย Q3/62 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์โต 3.8% ชะลอลงจาก 4.2% ใน Q2/62, NPL ขยับขึ้นเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2019 17:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3/62 เติบโต 3.8% ลดลงต่อเนื่องจาก 4.2% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจาก การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะลูกหนี้ธุรกิจ SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจ (คิดเป็น 64.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 1.3% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.6% แม้ว่าลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายนำเงินจากการออกหุ้นกู้มาทยอยชำระหนี้ สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัว 1.0% จากที่ขยายตัว 0.1% ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อลดลงในธุรกิจ SME ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (คิดเป็น 35.3% ของสินเชื่อรวม) ยังคงเติบโตในระดับสูง แม้อัตราการเติบโตจะลดลงจาก 9.2% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 8.7% โดยหลักเป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 หลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ และสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ สินเชื่อสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.95% เป็น 3.01% โดยยอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 469.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 19 พันล้านบาท จากลูกหนี้รายใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อ SME เป็นสำคัญ ในขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ยังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) ลดลงจาก 2.74% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 2.59% เนื่องจากลูกหนี้รายใหญ่บางรายถูกเปลี่ยนการจัดชั้นเป็น NPL

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 3/62 มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองเพิ่มขึ้น สามารถรองรับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ โดยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,738 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนและการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่ง ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.2% และมีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 9.9 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 690.5 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 196.3% เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ด้านอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ในระดับสูงที่ 185.0%

สำหรับในไตรมาส 3/62 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 96.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้พิเศษจากการขายเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเป็นสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 อยู่ที่ 214.4 พันล้านบาท

หากตัดรายการพิเศษ กำไรสุทธิในไตรมาสนี้ยังคงเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย รายได้จากเงินปันผล และรายได้ค่าธรรมเนียมจากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์และขายประกัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับสินเชื่อด้อยคุณภาพและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นจาก 1.26% ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 1.98% (หากหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุนของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งออก ROA จะลดลงมาอยู่ที่ 1.11%) ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ 2.74%

นายธาริฑธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ลดลงจากไตรมาส 2 มาอยู่ที่ 3.8% ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และจากการที่ลูกหนี้บางรายออกหุ้นกู้มาทยอยชำระหนี้ โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเติบโตได้ในระดับสูง แม้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรถยนต์จะเติบโตในอัตราที่ลดลง นอกจากนี้ การระดมทุนผ่านสินเชื่อธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ก็เติบโตในอัตราที่ลดลง สอดคล้องกับการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี วัฎจักรการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยปกติแล้วมักจะปล่อยสินเชื่อไม่มากนักในไตรมาสที่ 1 และ 3 แต่จะเร่งปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย โดยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ ธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นตามเป้าที่วางไว้ 3-5% ขณะที่ปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อยังเติบโตอยู่ในระดับ 1.5% "สิ่งที่เกิดขึ้นในไตรมาส 3 นี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เริ่มส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ แต่ผลกระทบนั้นยังไม่มีนัยสำคัญเพียงพอที่จะกระทบต่อความเข้มแข็งของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ยังมี buffer ที่แข็งแกร่งรองรับอยู่" นายธาริฑธิ์ระบุ ส่วน NPL ในไตรมาส 3 ที่แม้จะสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.01% นั้น ยังเป็นการสูงขึ้นในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งคุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ด้อยลงเกือบทุกพอร์ตสินเชื่อนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี คาดว่าสิ้นปี NPL จะอยู่ที่ระดับ 3% ตามที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้ NPL ของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากลูกหนี้รายใหญ่บางราย และสินเชื่อ SME เป็นสำคัญ ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กมีความเปราะบางจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ขณะที่การชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางอย่างชัดเจนขึ้น โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจกลุ่มอาหาร, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน "สิ่งที่สถาบันการเงินควรให้ความสนใจต่อไปในอนาคต มี 2 เรื่องคือ 1.สินเชื่อภาคธุรกิจบางส่วนที่ประสบภาวะความท้าทายทางเศรษฐกิจ พวกนี้ยังมีศักยภาพอยู่ แต่ว่าโดนปัญหาสภาพคล่อง หรือต้องปรับตัวในช่วงที่เจอปัญหา trade war เศรษฐกิจชะลอตัวลง การเข้าไปดูแลแก้ไขช่วยเหลือลูกหนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้กลุ่มนี้เดินต่อไปได้และไม่เป็น NPL และเรื่องที่ 2 คือหนี้ครัวเรือน ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ในภาวะที่ท้าทายนี้ ธนาคารต้องระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบไม่ให้สะสมความเปราะบางเพิ่มเติมขึ้น และกลายมาเป็น NPL ในระยะต่อไป" นายธาริฑธิ์ กล่าว ส่วนการเติบโตของสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยนั้น พบว่า สินเชื่อปล่อยใหม่ให้กับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยลดลง ทั้งแนวราบและแนวสูง เช่นเดียวกับสินเชื่อปล่อยใหม่เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ภายหลังมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ ซึ่งมาตรการ LTV มีผลกระทบต่อการกู้สัญญาที่ 2 ขึ้นไป แต่ทำให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น โดยการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาแรกกับธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังเติบโตได้ 8.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ขึ้นไปลดลง 14% โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และการกู้ซื้อสัญญาที่ 3 ขึ้นไป ลดลง 31.4% "หลังจากมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ ก็เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ ธปท.วางไว้ จะพบว่าส่งผลกระทบกับการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในสัญญาที่ 2 ขึ้นไป โอกาสที่ลูกหนี้กลุ่มที่เปราะบางจะมีปัญหาในอนาคตก็จะลดลงไป ราคาบ้านที่ถูกกดดันจากการลงทุนหรือการเก็งกำไร ก็จะลดลง ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจริงๆ สามารถซื้อในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น" นายธาริฑธิ์ กล่าว ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.นำไปสู่การช่วยลดภาระจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR, MRR, MOR ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมา ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและรายย่อยได้มากกว่า 1.8 ล้านราย ขณะที่ผลกระทบต่อกำไรของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างทรัพย์สินและหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ "การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ มีผู้ได้รับประโยชน์ในวงกว้าง ทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบ้าน เป็นประโยชน์ที่ช่วยผ่อนภาระ แต่ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ยก็ต้องมีนัยที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านด้วย" นายธาริฑธิ์ กล่าว พร้อมเชื่อว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เป็น 0% คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันยังมีทางเลือกในการลงทุนอื่นๆ อีกมาก เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ คือการพยายามลดต้นทุนของตัวเองลง หรือการหันไปปล่อยกู้ในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ