SCB EIC หั่นเป้า GDP ปี 62 เหลือโต 2.5% จากเดิม 2.8% หลัง Q3/62 ต่ำกว่าคาด, ยังคงประเมินปี 63 โต 2.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2019 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดเงิน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 62 จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 2.8% เหลือขยายตัวแค่ 2.5% โดยคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายจะขยายตัวประมาณ 2.6%YOY

สาเหตุหลักของการปรับลดประมาณการเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/62 ออกมาต่ำกว่าที่ SCB EIC เคยคาดว่าจะขยายตัว 2.7%YOY เป็นผลจากภาคเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากภาคส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ผลกระทบของมาตรการ LTV ต่อการลงทุนด้านการก่อสร้าง และการลดลงของยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังรวมถึงส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงเหลือที่ลดลงมากกว่าคาด ทำให้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ

ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) แต่ภาคการผลิต (manufacturing) ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้การฟื้นตัวของการจ้างงาน และรายได้นอกภาคเกษตรมีความเสี่ยงสูงขึ้น

SCB EIC ระบุว่า แม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/62 ยังคงขยายตัวที่ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล (%QoQ sa) แต่นับเป็นการขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 3/61 อย่างไรก็ดี หากพิจารณา GDP ภาคการผลิต(Manufacturing) พบว่ายังอยู่ในภาวะ technical recession

โดยล่าสุด ภาคการผลิตยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า -0.9% QoQ sa ซึ่งเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาส 1/62 ที่ระดับ -1.7% และ 0.5% QoQ sa ในไตรมาส 2/62 ซึ่งจากแนวโน้มการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง บวกกับการสะสมสินค้าคงคลังของสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงเพิ่มขึ้น SCB EIC มองว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตจะยังเป็นไปอย่างช้า ๆ ในระยะต่อไป

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าได้มีการหลุดออกจากภาวะ technical recession แล้ว โดยกลับมาขยายตัวได้ 1.0% QoQ sa หลังจากหดตัวสองไตรมาสติดกันในช่วงครึ่งปีแรกของปี อย่างไรก็ตาม การกลับมาขยายตัวได้ของการลงทุนภาคเอกชนส่วนใหญ่มาจากการซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องจักร (ขยายตัว 1.4% QoQ sa) ขณะที่ภาคการก่อสร้างแม้จะมีการขยายตัวแต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเพียง 0.1% QoQ sa (เทียบกับ 0.0% ในไตรมาส 2/62)

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ทาง SCB EIC มองว่าการส่งออกยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลงเนื่องจากได้รับอานิสงส์ปัจจัยฐานต่ำ เนื่องจากสถานการณ์การค้าโลกยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่องสะท้อนจาก Global Manufacturing PMI ที่ยังอยู่ในโซนหดตัว (ระดับต่ำกว่า 50) รวมถึง PMI ของประเทศสำคัญก็ยังมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ คาดว่าการส่งออกทั้งปี 62 จะหดตัวที่ 2.5% ซึ่งจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มหดตัว จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านภาคการผลิตที่ยังคงอยู่ในภาวะ technical recession ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เริ่มลดลง และค่าจ้างนอกภาคเกษตรที่ชะลอตัวลง อาจยังคงดำเนินต่อไป และจะทำให้การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้น SEC EIC จึงมองว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 62 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนจะมีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการประกันรายได้เกษตรกร และมาตรการชิม ช้อป ใช้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ก็อาจมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้างผ่านการบริโภคสินค้าไม่คงทนในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับปี 63 SCB EIC คงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.8% แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากจากภาคส่งออกที่ยังคงมีหลายปัจจัยกดดัน รวมถึงการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มชะลอลง จากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีหน้า ประกอบกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

แต่จะมีปัจจัยสนับสนุนจากปัจจัยฐานต่ำของการส่งออกในปีนี้ SCB EIC จึงประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน คาดขยายตัวชะลอลงจากปี 62 เล็กน้อยตามภาคส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV

อย่างไรก็ดี ภาพรวมการลงทุนของประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ ในส่วนของการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนน การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก รถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ เป็นสำคัญ นอกจากนี้ ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปี 63 ก็จะส่งผลให้โครงการลงทุนภาครัฐบางส่วนมีการเลื่อนไปเบิกจ่ายได้มากขึ้นในปีหน้า ดังนั้น SCB EIC จึงคาดว่าการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีที่ราว 8.0%

ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงเช่นกันจากหลายปัจจัยกดดัน ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีทิศทางชะลอต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวของรายได้ประชาชน ทิศทางการปล่อยสินเชื่อที่จะเข้มงวดมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การลดลงของยอดซื้อรถยนต์ในระยะข้างหน้า และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ ต้องติดตามภาครัฐว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปี 63 หรือไม่ และจะมีการจัดทำในรูปแบบใด โดยหากมาตรการกระตุ้นยังคงเป็นแบบเดิมที่มีขนาดเล็กและกระจัดกระจาย (small and scattered) ก็อาจทำได้เพียงช่วยพยุงเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น

ขณะที่ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปี 63 คาดว่าจะจะมีการบังคับใช้ได้อย่างช้าที่สุดในช่วงเดือน ก.พ.63 เนื่องจากมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า 1) สภาผู้แทนราษฎร ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้เสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่วันที่ร่างมาถึงสภาฯ ในกรณีนี้ คือช่วงกลางเดือน ต.ค.62 แต่หากไม่เสร็จภายในกำหนดให้ถือว่าเห็นชอบและเสนอต่อไปที่วุฒิสภา และ 2) วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างฯ นั้นมาถึงวุฒิสภา โดยจะแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ มิได้ ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าวุฒิสภาเห็นชอบ ซึ่งจากความล่าช้าดังกล่าวจะทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐล่าช้าตามไปด้วย แต่ในกรณีของรายจ่ายประจำยังสามารถเบิกจ่ายได้ตามกรอบงบประมาณเก่าไปพลางก่อน

สำหรับแนวโน้มนโยบายการเงิน SCB EIC มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63 โดย SCB EIC ประเมินว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองของปี 62 ในการประชุม กนง.ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กนง. น่าจะเห็นความเสี่ยงด้านต่ำต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 3/62 อยู่บ้างแล้ว สะท้อนจากข้อความ "คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น" ในแถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 6 พ.ย.62

นอกจากนั้น ในผลการประชุมรอบดังกล่าว กนง. ได้มีการส่งสัญญาณถึงการใช้นโยบายด้านอื่น ๆ นอกจากนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างและการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

อย่างไรตาม SEC EIC ประเมินว่า กนง.มีโอกาสมากขึ้นที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง (25 basis points) ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 หากภาวะเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ (domestic demand) ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงดังกล่าว โดยล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ของ รองประธาณกรรมการ กนง.ได้กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% นั้นไม่ใช่ขีดจำกัดของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (policy rate floor) หากแต่คณะกรรมการจะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ (data dependent) และหากมองว่าเศรษฐกิจไทยปรับแย่ลงกว่าที่กรรมการคาดการณ์ไว้ ก็พร้อมใช้เครื่องมือทางการเงินซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นต่อไปได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ