นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณน้ำทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของน้ำทิ้งต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้
สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งไม่ใช่สัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ, กิจการเกี่ยวกับน้ำมันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับน้ำตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียของโรงงานทั้งหมดที่กล่าวไว้
"ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง กระทรวงอุตสาหกรรมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญทั้งเรื่องการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน" นายสุริยะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำน้ำทิ้งออกนอกโรงงานในส่วนของโรงงานจำพวก 3 นั้น โรงงานที่จะนำน้ำทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกับเกษตรกร ต้องมีแผนที่และหนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับน้ำทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่นั้นมีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่าน้ำทิ้งดังกล่าวว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณน้ำทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในระดับสูงสุด คือ 1.Reduce การลดใช้หรือใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น 2.Reuse การใช้น้ำซ้ำ และ 3.Recycle หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย