นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวในปี 63 มี 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยคาดว่าจะฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว, มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย, การลงทุนภาคเอกชนกับภาครัฐ, แนวโน้มค่าเงินบาท
2. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศ CLMV, การเติบโตของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC, ผู้ประกอบการไทยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดโดยเจาะกลุ่มลูกค้าในจังหวัดรอง หรือ อำเภอย่อยๆ มากขึ้น
3. อุตสาหกรรมอาหาร โดยคาดว่าการส่งออกอาหารจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 2 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังคงมีการแข่งขันสูงในตลาดโลก ปัญหาโรคในปศุสัตว์ โรคตายด่วน EMS ในกุ้ง รวมทั้งเงินบาทที่ยังแข็งค่า
4. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปี 62 จากการคาดว่าสหรัฐฯและจีนจะบรรลุข้อตกลงในการเจรจาการค้าระยะที่ 1 ประกอบกับมาตรการควบคุมปริมาณการผลิจของกลุ่มโอเปกที่จะยังรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ต่ำลงมากนัก
สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวในปี 63 ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเลคทรอนิกส์และโทรคมนาคม โดยคาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนของภาวะสงครามการค้า ประกอบกับเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท 2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้า และการแข็งค่าของเงินบาท 3. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ โดยในช่วงระยะเวลาข้างหน้า กลุ่มฯ มีความกังวลต่อการปรับเปลี่ยนจากการใช้เครื่องสันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้าตามการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบของการผลิตยานยนต์ 4. อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าจะยังทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 62 จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าของจีนกับสหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ความผันผวนของราคาน้ำมัน การแข็งค่าของเงินบาท และกระแสการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก
ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัวในปี 63 ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก ตามความต้องการใช้เหล็กของโลก การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีโอกาสจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างจังหวัดและการเติบโตของเมืองชายแดน