นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เปิดเผยในงานสัมมนา "EEC NEXT : ทุนไทย-เทศ ปักหมุด"ว่า รัฐบาลเตรียมเดินหน้าดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานและทำแพ็คเกจที่เหมาะสมเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สนใจให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมของไทย เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ต่างชาติที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอยู่แล้ว ขยายการลงทุนโรงงานผลิตเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสภาพแวดล้อม ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสนใจ เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดของเสีย ที่จะนำของเสียเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งอุตสาหกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ภาครัฐมีความสนใจ เพราะสามารถนำมาพัฒนาศักยภาพและพัฒนาเทคโนโลยีของการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าและดียิ่งขึ้นได้ เพื่อตอบโจทย์การเป็น Medical Hub ของประเทศไทย
นอกจากนี้ พื้นที่ EEC จะต้องมีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เพื่อทำให้การทำธุรกรรมต่างๆ ของนักลงทุนต่างชาติเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว และรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะมีการดึงดูดให้สถาบันทางการเงินชั้นนำจากต่างชาติเข้ามาตั้งสาขาหรือสำนักงานในพื้นที่ EEC เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักลงทุนต่างชาติในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินจากยุโรป และญี่ปุ่น ที่สนใจเข้ามาตั้งสาขาและสำนักงานในพื้นที่ EEC แล้ว
สำหรับประโยชน์ของการผลักดันโครงการพัฒนาพื้นที่ EEC จะช่วยให้มีเม็ดเงินจากต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนต่างๆ ที่เป็นการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น และเกิดการกระจายรายได้ พร้อมกับช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย และเพิ่มความสามารถของแรงงานไทยให้มีทักษะสูงขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการจัดทำงบประมาณในการลงทุนและการสนับสนุนการลงทุนใน EEC
นายอุตตม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในจุดสำคัญที่มีการปรับเปลี่ยนประเทศ หากเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นได้ EEC ก็จะเดินหน้าได้ วันนี้ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ เราต้องการเทคโนโลยีทั้งที่สร้างเองได้และจากต่างประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ด้วยพลังสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูง ที่จะทำให้ประเทศเติบโตได้ต่อเนื่อง และสามารถดูแลทุกคนได้ทั่วถึง
"EEC เป็นโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศในการเติบโตในระยะยาว โดยมีความก้าวหน้าแล้วในช่วงที่ดำเนินการมาแล้ว 3-4 ปี เป็นโอกาสของไทย เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนวโน้มจะไม่เหมือนเดิม แต่ภูมิภาคที่เติบโตได้เร็วก็คือเอเชีย ทุกคนมองมาที่เอเชีย ไทยเป็นโอกาสเข้าสู่ประตูเอเชีย อีอีซี อยู่ในไทย ซึ่งออกแบบให้ยึดโยงประเทศโดยรอบ ไม่ใช่มุ่งเน้นพัฒนาในประเทศไทย เพราะเอเชียโดดเด่น ไทยอยู่ในที่ตั้ง ที่ดี โดยนักลงทุนต่างชาติ เขาไม่ได้มองแค่ไทย แต่มองถึงกระจายไปยังประเทศใกล้เคียงด้วย ฉะนั้น EEC ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้หลุดไป ดังนั้นจะเดินต่อจากที่ได้เริ่มทำโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน"
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ว่า กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบ ซึ่งจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม และจะกระจายไปหลากหลายกลุ่มจากที่ได้ออกมาตรการชิมช้อปใช้ และการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ออกไปแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบใดจะเหมาะสม ซึ่งเมื่อดำเนินการไปแล้วจะต้องเกิดผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมสามารถขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเหมาะสมก็จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนสิ้นปีนี้
"วันนี้เศรษฐกิจถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลก เราส่งออก 70% สิ่งที่รัฐบาลทำคือออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันที ขณะเดียวกันในระยะยาวปรับเปลี่ยนปฏิรูปประเทศ แต่ระยะสั้น เผชิญเศรษฐกิจผันผวนก็ต้องดูแล แต่ละกลุ่ม พยายามทำให้ทันการ ซึ่งไม่รู้ปีหน้าเป็นอย่างไรแต่วันนี้ทำให้ตัวเองแข็งแรงที่สุดเมื่อสถานการณ์พลิกเราจะก้าวไปข้างหน้า...ไม่มีมาตรการใดมาตรการหนึ่งดูแลได้ สิ่งที่รัฐบาลทำเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้มีความคึกคักไม่ให้กำลังใจเสีย ทำในวันนี้เพื่อให้อยู่รอด ก็จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้น วันนี้เราไม่ได้เลวร้ายสุดๆ แต่โตช้าลง เรายังไม่หดตัว เราเริ่มดูแลตัวเองให้เร็ว และ EEC Next ก็มีต่อไป"
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะรองประธาน กบอ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงพื้นที่ EEC" ว่า แม้ไทยจะประสบปัญหาเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมมีปัญหา แต่ไทยยังมีมุมบวกและโอกาสก้าวต่อเนื่องได้ หนึ่งในนั้นมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ทำให้อุตสาหกรรมไทยกลับมาเติบโตอีกครั้ง ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับขั้น แบ่งเป็น 1. วางกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวกข้อง มีสำนักงาน อีอีซี ออกกฎหมายและมีตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจ EEC เพราะแม้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปก็ยังสามารถขับเคลื่อนต่อไป
2. วางโครงสร้างพื้นฐาน ที่เป็นเมกะโปรเจคท์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การขนส่ง การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด เป็นต้น รองรับสินค้าปิโตรเคมีปีหน้า มีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา คาดอีก 1-2 เดือนหาผู้ชนะการประมูลได้
3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ม.ค.-ก.ย.มีข้อรับในพื้นที่ EEC 336 โครงการมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 37% ได้แก่ กลุ่มดิจิทัล กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมทันตแทพย์
ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "EEC สร้างคน สร้างแรงงาน" ว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะปรับหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะทักษะที่ต้องการมากที่สุดคือภาษาอังกฤษ รวมทั้งจะมีภาษาจีน พร้อมทั้งเพิ่มทักษะให้เด็กต้องพยายามให้มีความคิดสร้างสรรค์ หรือทักษะแสดงออกมีความมั่นใจในการทำงานในอนาคต
"เราคาดว่าถ้าเราเตรียมแรงงานให้กับ EEC และเศรษฐกิจไทยในอนาคต มั่นใจแรงงานที่รองรับกับความเจริญ และจะขับเคลื่อนศักยภาพของไทย" นายณัฏฐพล กล่าว
ส่วนนายยุทธนา ไสไทย ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า สถาบันการเงินเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้ามามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมต่างๆ ของภาคธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งโครงการ EEC จะต้องมีการวางโครงการสร้างพื้นฐานให้เป็นศูนย์กลางของสถาบันการเงินที่ดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน
ขณะที่ลูกค้าของธนาคารที่สนใจเข้ามาลงทุนใน EEC ถือว่ามีความสนใจค่อนข้างมากกว่า 300 บริษัท โดยที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่สนใจเข้ามาลงทุนใน EEC เป็นจำนวนมาก ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้า, โรงงานผลิตอาหารแปรรูป และโรงงานสินสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักลงทุนจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่เป็นลูกค้าของธนาคารสนใจเข้ามาลงทุนใน EEC เช่นเดียวกัน โดยที่ปัจจุบันมูลค่าการทำธุรกรรมการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันถือว่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่ามูลค่าธุรกรรมการลงทุนระหว่างญี่ปุ่นและอาเซียน ที่เป็นอันดับ 2
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนสิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนใน EEC คือ ธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ EEC ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีความสนใจมาก แต่ยังคงติดปัญหาเกี่ยวกับกฏหมายที่การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ไนไทยยังห้ามให้นักลงทุนต่างชาติถือครองสัดส่วนเกิน 51% ทำให้เรื่องดังกล่าวธนาคารมองว่าต้องรอการแก้ไขกฏหมายก่อน จึงจะสามารถแนะนำลูกค้าให้สามารถเข้ามาลงทุนในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ และหาธุรกิจอื่นที่มีโอกาสให้ลูกค้าชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้แทน