รศ.เอนก ศิริพานิชกร รองประธานอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติ สภาวิศวกร กล่าวว่า จากเหตุแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในคืนวันที่ 20 พ.ย.62 ถึงช่วงเช้าวันที่ 21 พ.ย.62 ในระดับความรุนแรงต่ำสุดที่ 2.9 และสูงสุดที่ 6.4 นั้น ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่บริเวณภาคเหนือ ลงมายังบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผู้ที่พักอาศัยหรืออยู่บนตึกสูงสามารถรับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน เหตุเพราะดินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นดินอ่อนและเป็นแอ่งกะทะ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดูแลตัวเองขณะเกิดแผ่นดินไหวเบื้องต้นได้โดยหาที่กำบัง เช่น หลบใต้โต๊ะ และไม่อยู่ใกล้บริเวณชั้นหนังสือหรือตู้ เป็นต้น แต่ในกรณีที่ประชาชนมีความกังวลใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัยอยู่ สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เช่น สังเกตรอยร้าวแนวเฉียงบริเวณกำแพง/เสา ฯลฯ จากนั้นบันทึกภาพรอยร้าวดังกล่าว พร้อมส่งคำร้องเพื่อขอตรวจสอบได้ที่ สภาวิศวกร หรือวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดยจะมีการจัดส่งทีมวิศวกรอาสาลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบเป็นลำดับถัดไป
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร ขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งออกกฎกระทรวง กำหนดรับรองน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ฉบับใหม่ พร้อมเร่งบรรจุพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจากเดิม 22 จังหวัด เป็น 43 จังหวัด เพื่อกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคารรูปแบบใหม่ ที่ต้องออกแบบโครงสร้างอาคารให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหว
พร้อมกันนี้ สภาวิศวกร ขอเชิญชวนประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งในการรายงานผลการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตั้งเครื่องมือวัดอัตราเร่ง และเป็นฐานข้อมูลที่ช่วยให้การออกแบบเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของอาคารในอนาคตมายังสภาวิศวกร ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งเครื่องวัดอัตราเร่งแล้ว 4 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
ด้าน ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมคนกรุงฯ ให้พร้อมรับมือต่อการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต ภาครัฐ-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมใน 3 ด้าน คือ 1. จัดอบรมให้ความรู้ประชาชน เรื่องผลกระทบจากแผ่นดินไหว วิธีการดูแลอาคารให้ปลอดภัย 2. มีการตรวจสอบอาคารตามความเสี่ยง โดยแบ่งประเภทของอาคารตามความเสี่ยง เช่น สีแดง อาคารเก่าที่เสี่ยงมาก ต้องปรับปรุง เสริมโครงสร้างทันที สีส้ม อาคารที่เสี่ยงระดับกลาง ที่ต้องหมั่นตรวจสอบ ตามกำหนด และ สีเหลือง อาจมีความเสี่ยง เช่น มีการต่อเติม และ 3. มีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทางทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว คือ อาคารเก่าๆ กึ่งกลาง กึ่งสูง หรือมีการก่อสร้างก่อนปี 50 เพราะได้รับการออกแบบและก่อสร้างมายาวนาน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรตรวจสอบแข็งแรงเชิงโครงสร้างของอาคารอย่างใกล้ชิด เพราะในอนาคตอาจจะเกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้น และรุนแรงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน กลุ่มอาคารสูงรุ่นใหม่ มักเป็นอาคารที่มีโครงสร้างรองรับการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งใช้โครงสร้างเหล็กเป็นหลักตามมาตรฐาน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้มีการรองรับแผ่นดินไหว อีกทั้งการออกแบบเพื่อรับแรงลม เสมือนช่วยเรื่องแผ่นดินไหวในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ สำหรับอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น จะได้รับผลกระทบต่ำ เนื่องจากการสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการสั่นไหวของตึก