นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงทิศทางและแผนยุทธศาสตร์ของ ธปท.ใน ปี 63-65 ว่า ในระยะ 3 ปีข้างหน้าจากนี้ไป ธปท.จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เพราะเป็นช่วงของ "ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" หรือ Central banking in a transformative world โดยมีพันธกิจหลัก คือ การมุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินที่มีเสถียรภาพ และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
สำหรับความท้าทายที่ ธปท.ต้องเผชิญในอีก 3 ปีข้างหน้า มี 7 ประเด็นที่สำคัญ คือ
1. ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ระบบการเงินไทยถือว่ามีการแข่งขันในการสร้างนวัตกรรม และมีพัฒนาการด้านการเงินดิจิทัลดีที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งการเงินดิจิทัลนี้ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและเพิ่มศักยภาพให้แก่ภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานกลางทางการเงินจะต้องมีความเชื่อมโยง มั่นคง ปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล ซึ่งพัฒนาการของ Central Bank Digital Currency (CBDC) จะต้องเท่าทันโลกการเงินดิจิทัล
2. กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ โดยกฎเกณฑ์กำกับดูแลจะต้องเอื้อให้ภาคธุรกิจการเงินเท่าทันโลกการเงินดิจิทัล แข่งขันได้อย่างเท่าเทียม และลดช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ลง ขณะที่ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องมีวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (risk culture) ที่เข้มแข็ง ต้องทำให้ความเสี่ยงนอกระบบธนาคารพาณิชย์ และความเสี่ยงใหม่จากโลกการเงินดิจิทัลไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการชำระเงิน โดยจำเป็นต้องมีกลไกความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลอย่างบูรณาการในทุกขั้นตอนของการดูแล และแก้ไขปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน
3. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องเผชิญขีดจำกัด โดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ทั้งนี้จะต้องทำให้สาธารณชนสามารถเข้าใจการดำเนินนโยบายของ ธปท.และปรับตัวต่อสัญญาณของนโยบายได้อย่างเหมาะสม ซึ่งกรอบนโยบายการเงินและการผสมผสานเครื่องมือนโยบายจะต้องสามารถบรรลุเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหภาค และเสถียรภาพระบบการเงิน
4. อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้น ภาคเอกชนต้องสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี ซึ่งกรอบการกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน และการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายจะต้องเท่าทันกับโลกการเงินดิจิทัล ทำให้การไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศมีความสมดุลมากขึ้น รวมทั้งกรอบการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ จะต้องเอื้อต่อการปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัล และโครงสร้างการเงินโลกที่เปลี่ยนไป
5. ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี และเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน ซึ่งจะต้องทำให้โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงินมีเสถียรภาพ ให้บริการได้ต่อเนื่อง และพร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์จากนอกภาคการเงินได้ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องบริหารจัดการข้อมูลของตนเอง และบริหารความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ตามมาตรฐานสากลชั้นนำ และไม่นำไปสู่ความเสี่ยงในเชิงระบบ รวมทั้งภาคการเงินจะต้องมีบุคลากรเพียงพอรับมือความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ด้วย
6. การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง ธปท.และสถาบันการเงินจะต้องมีส่วนช่วยในการลดปัญหาให้สังคมไทย แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ลดลง เพื่อให้ความเปราะบางของฐานะทางการเงินของครัวเรือนได้รับการดูแล และไม่สร้างความเสี่ยงในระยะยาว ขณะเดียวกันประชาชนจะต้องสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และได้รับบริการที่เป็นธรรม มีภาระทางการเงินลดลง
7. การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น ดังนั้น จะต้องทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าใจและเชื่อมั่นบทบาทและเหตุผลในการดำเนินนโยบายของ ธปท.ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลข่าวสารที่ได้จาก ธปท.ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม และสุดท้ายทำให้ ธปท.ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลสูง เปิดกว้างในการรับฟัง และเข้าถึงได้ง่าย
ส่วนการวางรากฐานที่สำคัญให้แก่องค์กรของ ธปท.เองนั้น จะต้องมีการปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร, การปรับวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานสู่องค์กรที่มีความคล่องตัวสูง ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการของการทำงาน