นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากว่า ขณะนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเสร็จแล้ว โดยจัดทำรายละเอียดที่ครบสมบูรณ์และได้นำข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้รับจากเวทีรับฟังความความคิดเห็นมาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนและประชาชน
หลังจากนี้ พพ.เตรียมนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ฯ นี้ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 63
"โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเป็นเจ้าของพลังงานได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ ยกระดับชุมชนสู่การเป็นผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จำหน่ายไฟฟ้า ขณะนี้จึงได้รับความสนใจอย่างมากมาย มีองค์กรท้องถิ่นและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพลงทุน สอบถามเข้ามายังกระทรวงพลังงานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ร่างหลักเกณฑ์ฯ ที่กำลังจะออกมานี้จึงถือเป็นการสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินงานขั้นต่อไป"
สำหรับขนาดของโรงไฟฟ้าชุมชนแต่ละแห่งนั้น จะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โรง มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท/เมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงาน มีเป้าหมายจะส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้และเข้าระบบได้ในปี 65 ที่สำคัญ โครงการประเภท Quick Win จะสามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 6 เดือนหลังจากการได้ผลการคัดเลือก
ในส่วนรูปแบบการขายไฟฟ้าคืนกลับมายังภาครัฐนั้น รมว.พลังงาน ระบุว่า ได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมข้อมูลปริมาณความต้องการไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคไว้แล้วว่าในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยอย่างไร พร้อมวางระบบสายส่งที่มีศักยภาพ ส่วนการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน กกพ.เตรียมความพร้อมเบื้องต้นไว้ระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะมีความพร้อมดำเนินการ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างเป็นระบบ
"โรงไฟฟ้าชุมชนถือเป็นการพลิกมิติด้านพลังงานครั้งสำคัญ จากที่เคยถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มทุนใหญ่ มาสู่มือของประชาชนคนเล็ก คนน้อยสามารถมีสิทธิ์ มีเสียง มีส่วนร่วมกับชุมชนของตนเองได้ โดยอาศัยวัตถุดิบทางการเกษตร พืชผลพลังงานตามบริบทของท้องถิ่น และทรัพยากรหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น แสงแดด นับว่าสอดคล้องกับทิศทางด้านพลังงานสะอาดและกระแสอนุรักษ์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังก้าวไปอีกด้วย"นายสนธิรัตน์ กล่าว