นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การทำงานของรัฐบาลยังเดินหน้าไปด้วยกัน เพียงแต่แต่ละกระทรวงจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนที่รับผิดชอบ ซึ่งกระทรวงการคลังคงไม่ได้ไปทำในเรื่องการส่งออก เพราะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกันตลอดเวลากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายส่วน ทั้งเรื่องการส่งออก, ค่าครองชีพ, การเบิกจ่ายของภาครัฐ และการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นจำเป็นที่เครื่องยนต์เหล่านี้ต้องเดินไปข้างหน้าทุกตัว
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นมาตรการเฉพาะในส่วนที่กระทรวงการคลังเกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นให้การบริโภคขยายตัวมากขึ้น มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และเอกชนลงทุนมากขึ้น โดยในส่วนนี้คือส่วนที่กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ จะต้องไปถามหน่วยงานหรือผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง
"เมื่อก่อนการบริหารเศรษฐกิจมี 4 ขา ตอนนี้มีขาเดียว ทุกอย่างเรายังทำงานร่วมกัน สำหรับมาตรการดูแลเศรษฐกิจในมุมต่าง ๆ ในรายละเอียดต้องไปถามแต่ละกระทรวงดู ผมคิดว่าเขาพยายามอยู่ " นายสมคิด กล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะต้องมีการพิจารณาให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงสถานการณ์ โดยระหว่างนี้ยังขอให้รอดูไปก่อน เนื่องจากยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน และต้องรอให้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)
"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ดำเนินการมา รู้สึกได้หลายแบบที่บอกว่าได้ผลก็มีอยู่ แต่คิดว่าประเด็นหลักอยู่ที่ว่า จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ในภาวะแบบนี้ ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทั้งรัฐ เอกชน ไม่เช่นนั้นปล่อยไปเฉย ๆ ความมั่นใจไม่มี ความรู้สึกหดหู่ยิ่งไปกันใหญ่ วันนี้คิดว่าตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนจากรายไตรมาสเริ่มผงกหัวดีขึ้น เราต้องทำต่อไป ไม่ใช่รอดูเฉย ๆ ขอให้ติดตามดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาอีก" นายอุตตม กล่าว
พร้อมระบุว่า เมื่อกระทรวงการคลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว ก็ได้มีการติดตามและประเมินผล ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นนั้น กระทรวงที่รับผิดชอบก็ได้ดำเนินการอยู่ ซึ่งกระทรวงการคลังรับผิดชอบแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำงานร่วมกัน รัฐบาลยังทำงานร่วมกัน เพียงแต่ในรายละเอียดจะต้องไปถามผู้รับผิดชอบโดยตรง
"กระทรวงการคลังคงไม่สามารถไปตอบแทนได้ แต่ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เราทำด้วยกัน แต่รายละเอียดต้องไปถามผู้รับผิดชอบ เราไม่มีข้อมูล คงไปตอบแทนไม่ได้" รมว.คลังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มีหน้าที่ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่ประเมินความสำเร็จของมาตรการ สะท้อนให้เห็นว่าการประเมินกระทรวงการคลังก็ทำ หน่วยงานอื่นก็ประเมิน ที่ถามถึงมาตรการต่าง ๆ ในเชิงปฏิบัติก็ต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตอบ การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลก็ยังมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละส่วนก็ได้รายงานข้อมูลเข้ามา ทั้งเรื่องการส่งออก การบริโภค การลงทุน มีข้อมูลทั้งหมดหมด เพียงในทางปฏิบัติต้องให้เป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ เหมือนกับที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบเรื่องของกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ดี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการประชุมการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ว่า ในปีหน้าได้ตั้งเป้าหมายให้ไทยขยับอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจไปสู่ 1 ใน 20 อันดับ โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ แม้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ไทยจำเป็นต้องพัฒนา ทั้งเรื่องการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาทำไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถสื่อไปถึงผู้ใช้ รวมถึงธนาคารโลกให้เข้าใจสิ่งที่เราทำได้
ขณะเดียวกัน ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะต้องทำให้คนไทยรู้ว่าความยากง่ายในการทำธุรกิจสำคัญอย่างไร ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจ แต่ยังมีความสำคัญในเชิงธุรกิจและสังคม เพราะการลงทุนจากต่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับดังกล่าว ถ้าไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนนี้ได้ จะทำให้เกิดความลื่นไหลในการทำธุรกิจ เศรษฐกิจดีขึ้น ผลประโยชน์ที่มีต่อประชาชน เวลาติดต่อราชการก็ง่ายขึ้น อุปสรรคในอดีตจะหมดไป