นักวิเคราะห์จากหลายสำนักแสดงทัศนะว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รายเดือนของอินโดนีเซียที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นมีแนวโน้มว่าจะเริ่มชะลอตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับเดือนม.ค.ที่พุ่งขึ้น 1.77% แต่ถึงกระนั้นอัตราเงินเฟ้อรายปียังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง
นักวิเคราะห์ 10 รายจากโพลล์ของสำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีจะเป็นตัวแปรสำคัญที่บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 8.0% เป็นเดือนที่ 3 ต่อไปหรือไม่
นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนี CPI ในเดือนก.พ.จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4-0.8% จากเดือนม.ค.ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารแพงหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงภาวะขาดแคลนสินค้าจากเหตุน้ำท่วมและภัยธรรมชาติอื่นๆในบางพื้นที่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ 5 รายจากที่ทำการสำรวจคาดว่าดัชนี CPI เดือนก.พ.จะเพิ่มขึ้น 0.65-0.8% ซึ่งหากตัวเลข CPI เป็นไปตามคาดการณ์ก็จะทำให้อินโดนีเซียมีอัตราเงินเฟ้อรายเดือนพุ่งขึ้นเร็วที่สุดนับจากปี 2546 พร้อมทั้งคาดว่า อัตราเงินเฟ้อรายปีในเดือนก.พ.จะอยู่ที่ 7.13-7.6% เมื่อเทียบกับระดับ 7.36% ในเดือนม.ค. ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่าเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวในกรอบ 4-6% ในปีนี้
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติกลางจะประกาศดัชนี CPI ในวันจันทร์หน้า และคณะกรรมการธนาคารกลางอินโดนีเซียจะจัดประชุมเพื่อกำหนดดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้
เดสทรี ดามายานติ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์มานดิริ กล่าวว่า "ราคาอาหารเป็นตัวขับเคลื่อนภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าบางรายการ เช่นข้าวและน้ำมันพืชปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนก.พ."
ด้านอีริค ซูกานดิ นักวิเคราะห์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อรายเดือนจะเริ่มชะลอตัวลงในเดือนก.พ. แต่ตัวเลขเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก.พ. แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเดือนม.ค. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่รัฐบาลรักษาเสถียรภาพราคาอาหารพื้นฐานบางรายการ เช่นน้ำมันพืช พร้อมทั้งปรับลดภาษีนำเข้าข้าวลงมาอยู่ที่ 450 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม จากระดับ 550 รูเปียห์ต่อกิโลกรัม พร้อมทั้งยกเลิกภาษีนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลี
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--