ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยปีนี้ 9 ธุรกิจแนวโน้มเติบโตดี อีก 5 ธุรกิจเสี่ยงสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 29, 2008 15:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มภาวะธุรกิจอุตสาหกรรม 53 ประเภทในปี 2551 พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ประกอบด้วย 9 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสปาหรู รถยนต์และชิ้นส่วน สีอุตสาหกรรม ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต ธุรกิจซื้อขายออนไลน์ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน สีทาอาคาร อิเล็กทรอนิกส์ และกล้องดิจิตอล ตามลำดับ
"การที่ธุรกิจสปาหรูมีแนวโน้มการเติบโตสูงที่สุดถึงร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท เนื่องจากชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทย และคนไทยในตลาดระดับบนยังให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลสุขภาพ เช่นเดียวกับธุรกิจรถยนต์และชิ้นส่วนที่การส่งออกยังคงขยายตัวดีมาก โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.4-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตร้อยละ 20-25" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบด้วย 39 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ นมถั่วเหลือง ธุรกิจก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง พืชพลังงานทดแทน เยื่อกระดาษ ธุรกิจโรงแรมหรูระดับ 4-5 ดาว รถจักรยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า กุ้งและผลิตภัณฑ์ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ธุรกิจทัวร์ทางน้ำ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้าว ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ กระจก ธุรกิจโฆษณา นมและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เซรามิก คอนโดมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ธุรกิจรับสร้างบ้าน ยางพารา น้ำผัก-ผลไม้ ไก่แปรรูป ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสนามกอล์ฟ อัญมณีและเครื่องประดับ ธุรกิจบ้านจัดสรร อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง รองเท้า ปลากระป๋อง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจซึ่งต้องพึงระวัง ประกอบด้วย 5 ธุรกิจ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ของเด็กเล่น อ้อยและน้ำตาล และสถานีบริการน้ำมัน ทั้งนี้ เนื่องจากตัวแปรด้านอัตราดอกเบี้ย ราคาเชื้อเพลิง และเสถียรภาพการเมืองจะยังคงเป็นตัวแปรหลักที่จะมีผลต่อความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ ส่วนตลาดส่งออกก็อาจจะฟื้นตัวลำบาก เพราะคู่ค้าหลัก อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรปประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งแสวงหาตลาดใหม่ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดหลักเพียงไม่กี่ตลาด
เช่นเดียวกับการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คู่แข่งที่สำคัญอย่างจีน อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชา ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปของโลก นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ก็ชะลอตัวลง ทำให้ความต้องการสินค้าจากไทยลดลง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ