น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการปรับแก้คำนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและวิสาหกิจขนาดย่อม โดยยังคงใช้เกณฑ์จำนวนลูกจ้าง แต่เปลี่ยนจากเกณฑ์มูลค่าทรัพย์สินมาเป็นเกณฑ์รายได้ของวิสาหกิจในการกำหนดขนาดกิจการและแบ่งกิจการออกเป็นประเภทการผลิตสินค้า ประเภทการให้บริการ ประเภทการค้าส่งและประเภทการค้าปลีก เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย SMEs ในการส่งเสริมและช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยนิยามที่ปรับแก้ใหม่มีดังนี้ 1.วิสาหกิจรายย่อย ประเภทการผลิตสินค้าและประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้างไม่เกิน 5 คน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท
2.วิสาหกิจขนาดย่อม ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 6-50 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-100 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 6-30 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8-50 ล้านบาท
3.วิสาหกิจขนาดกลาง ประเภทการผลิตสินค้า มีลูกจ้าง 51-200 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 100-500 ล้านบาท ประเภทการให้บริการ การค้าส่งและค้าปลีก มีลูกจ้าง 31-100 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 50-300 ล้านบาท
โดยจำนวนลูกจ้างให้พิจารณาจากหลักฐานแสดงจำนวนลูกจ้างที่ได้จัดทำขึ้นตามกฎหมาย ขณะที่จำนวนรายได้ให้พิจารณาจากรายได้รวมที่ระบุไว้ในงบการเงินที่จัดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีกำหนดหรือเอกสารบัญชีแสดงรายได้ ส่วนกรณีที่กิจการมีจำนวนลูกจ้างเข้าเกณฑ์นิยามวิสาหกิจประเภทหนึ่งแต่รายได้ไม่เข้าเกณฑ์ ให้ยึดรายได้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา