น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการนำส่งเงินภาษี และร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรเพื่อกำหนดรายการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่ต้องรายงานและวิธีการรายงาน
โดยกฎกระทรวง 2 ฉบับดังกล่าว เป็นการออกกฎหมายลำดับรองตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 กำหนด
สำหรับร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการนำส่งเงินภาษี มีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีตามตามประมวลรัษฎากรอาจเลือกวิธีการนำส่งภาษีต่อกรมสรรพากรผ่านธนาคารหรือนิติบุคคลอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการกำหนดทางเลือก ไม่ใช่วิธีที่บังคับให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีต้องปฏิบัติ และไม่มีกรอบระยะเวลาที่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีจะต้องเลือกวิธีการนำส่ง
ส่วนร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ มีสาระสำคัญคือ เป็นการกำหนดให้สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วย (1)ธุรกิจสถาบันการเงิน (2)สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะตั้งขึ้น และ(3)ผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชำระเงิน มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะเฉพาะที่อยู่ในครอบครองในปีที่ผ่านมาต่อกรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งธุรกรรมลักษณะเฉพาะ คือ ธุรกรรมที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือธุรกรรมที่มีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ได้กำหนดให้เริ่มจัดเก็บข้อมูลธุรกรรมลักษณะเฉพาะหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว จึงมีระยะเวลานานพอสมควรก่อนที่จะจัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากร
"ประโยชน์ของร่างกฎกระทรวงทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนในการเสียภาษีและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเอกสารทางภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดการใช้กระดาษและลดต้นทุนในการดำเนินการด้านภาษี ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล" น.ส.รัชดา กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กรมสรรพากรจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นพิเศษเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนใช้ระบบการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) มากขึ้น โดยระบบ e-Withholding Tax จะพัฒนาให้พร้อมสำหรับการให้บริการกับสถาบันการเงินได้ในเดือนมีนาคม 2563
นอกจากนี้ การรายงานธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตามร่างกฎกระทรวงที่เสนอจะเป็นการนำข้อมูลไปใช้ ประโยชน์สาธารณะ หากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและการขอสินเชื่อต่างๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขึ้นไป