(เพิ่มเติม) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ต.ค.อยู่ที่ 95.70 หดตัว -8.45% รับผลกระทบสงครามการค้า,ลดคาดการณ์ MPI ทั้งปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2019 12:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค.62 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.45% มาอยู่ที่ระดับ 95.70 จากผลของการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง รวมทั้งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการค้าที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนี MPI ที่หดตัวลงมาจากอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์, น้ำมันปิโตรเลียม, เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน, ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และการแปรรูป-ถนอมผักและผลไม้ เป็นต้น ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ต.ค.62 อยู่ที่ 62.83% เนื่องจากอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันบางราย มีการหยุดซ่อมบำรุงตามรอบปี ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมลดลง

ดังนั้น สศอ.จึงได้ปรับลดคาดการณ์ดัชนี MPI ในปีนี้ลงเหลือ -3.8% จากเดิมคาดไว้ในระดับ 0-1% และปรับลดคาดการณ์ GDP ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ลงมาเหลือ -1.2% จากเดิมคาด 0-1%

นายอดิทัต ยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมหลักที่การผลิตยังคงขยายตัวได้ดีในเดือนต.ค.62 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 13.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกเพิ่มขึ้นไปกลุ่มอาเซียน และอินเดีย รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มจากญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ส่วนตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นตลาดด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์

Hard Disk Drive ขยายตัว 5.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้นหลังการปิดฐานผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 รวมถึงการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและตอบสนองต่อการใช้งานประเภทต่าง ๆ ของลูกค้าได้มากขึ้น

สัตว์น้ำแช่เย็นหรือแช่แข็ง ขยายตัว 10.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปลาแช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง รองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าพร้อมทาน การขยายฐานลูกค้าในช่องทางการจำหน่ายออนไลน์และตลาดโมเดิร์นเทรดมากขึ้น

เบียร์ ขยายตัว 14.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของตลาดมากขึ้น

สบู่ และสารซักฟอก เคมีทำความสะอาด ขยายตัว 9.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยาสระผม ผงซักฟอก สบู่และเครื่องบำรุงผิว เนื่องจากการปรับเครื่องจักรของผู้ผลิตบางรายเพื่อรองรับการผลิตสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ทั้งนี้ สศอ. ยังได้พิจารณาข้อมูลทางเทคนิคของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมที่ส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้ โดยโรงกลั่นน้ำมันที่หยุดซ่อมบำรุง 2 แห่งนั้น มีการผลิตคิดเป็น 36% ของการผลิตทั้งหมด

นายอดิทัต กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม สศอ. จึงได้เสนอแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบ โดยแบ่งเป็นแนวทางในระยะสั้น และระยะกลาง ดังนี้ แนวทางระยะสั้น ได้แก่ 1.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ 2.กำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ 3.เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ 4.ดูแลสถานการณ์ค่าเงินเพื่อให้สินค้าและบริการของไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

แนวทางระยะกลาง ได้แก่ 1.เร่งผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมศักยภาพ (S Curve) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีฐานศักยภาพ เช่น Bio Economy และ Circular Economy 2.ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิตเพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถ 3.Upskill/Reskill แรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และบรรเทาการว่างงาน 4.มาตรการจูงใจให้ผู้ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนเริ่มลงทุนจริงในปี 2563 และ 5.ผู้ประกอบการปรับตัวโดยการเพิ่มผลิตภาพ ลดค่าใช้จ่าย และพิจารณาเพิ่มการลงทุนในกรณีที่มีสภาพคล่อง

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของดัชนี MPI ในปี 63 คาดว่า จะฟื้นตัวมาเติบโต 2-3% ขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรม จะเติบโต 1.5-2.5% จากปีนี้ เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และนักลงทุนย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศไทย

รองผู้อำนวยการ สศอ. ยังเปิดเผยถึงแนวโน้มการขยายตัวของรายอุตสาหกรรมสำคัญในปี 63 โดยระบุว่า อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีการผลิตและการส่งออกในภาพรวมปี 2563 ขยายตัวเล็กน้อยจากปีก่อน 1.2 - 1.5% และ 2.7 - 3% ตามลำดับ จากปัจจัยบวกอย่างความต้องการบริโภคของต่างประเทศเพิ่มขึ้นในตลาดหลักอย่างญี่ปุ่น เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 และตลาดจีนที่เพิ่มคำสั่งซื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากในปี 2562 จีนได้ให้การรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ปีกของไทยมากขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปี 2563 คาดว่าจะได้รับผลบวกจากวัฏจักรของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 1.6% และ 1.5% ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น HDD และ IC อุตสาหกรรมรถยนต์ แนวโน้มของการผลิตรถยนต์ในปี 2563 คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี แนวโน้มปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย จากตลาดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมขยายตัวได้ไม่มาก เกิดจากราคาและสถานการณ์การส่งออกที่ได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ในประเทศปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 1.27% ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดต่างประเทศ ในขณะที่การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง 0.82% จากการชะลอตัวของตลาด Replacement สำหรับถุงมือยางคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 3.04% และ 2.91% ตามลำดับ ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดส่งออกและความต้องการใช้ในประเทศที่สูงขึ้น อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติกปี 2563 จะขยายตัวเพียงเล็กน้อย โดยการผลิตในปี 2563 จะขยายตัว 1.33% การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะขยายตัว 4.06% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวและการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2563 จะส่งผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดคู่ค้าหลักของไทย อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าการผลิตจะขยายตัว 2.18% และการส่งออกขยายตัว 2.09% อย่างไรก็ตามในปี 2563 ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่า การผลิตและการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ตามแนวโน้มการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวในสินค้ากลุ่มส้นใยประดิษฐ์ไปยังตลาดจีน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับการนำเข้า คาดว่า จะมีการนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทดแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศบางส่วน เช่น กลุ่มผ้าผืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ