ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองมาตรการที่อยู่อาศัยภาครัฐสร้างบรรยากาศเชิงบวกตลาดอสังหาฯโค้งสุดท้ายปี 62 แม้ภาพรวมทั้งปีชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 27, 2019 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง โครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ซึ่งเป็นชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปเมื่อวานนี้ (26 พ.ย.) นับเป็นการออกมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2562 นี้

สำหรับโครงการ "บ้านดีมีดาวน์" ซึ่งภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จำนวน 100,000 ราย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การที่ภาครัฐได้ออกโครงการฯ นี้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองที่อยู่อาศัย) มาก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดบรรยากาศเชิงบวก และจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยสามารถทำตลาดได้ง่ายขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 นี้

สำหรับระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เข้าข่ายตามเกณฑ์ผู้ซื้อที่มีรายได้ดังกล่าว น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ซื้อ และความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรอขายที่ระดับราคาดังกล่าว คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลซึ่งมีทั้งหมด 1.9 แสนหน่วย

ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว โครงการฯ นี้ คาดว่าจะช่วยก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปยังห่วงโซ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เช่น วัสดุก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจรับตกแต่งที่อยู่อาศัย และค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

สำหรับโครงการสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) ช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สำหรับผู้ซื้อที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯ นี้ จะเป็นกลุ่มผู้ที่กำลังจะโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยหรือกลุ่มที่มีความพร้อมทางการเงิน ที่กำลังตัดสินใจจะซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งการลดภาระการผ่อนดาวน์ (Cash Back) 50,000 บาทต่อราย จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยแต่ละรายได้อย่างน้อย 1.25% ของราคาที่อยู่อาศัยที่ 4 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยสามารถที่จะนำเงินมาผ่อนชำระที่อยู่อาศัยต่อไป หรือนำไปใช้จ่ายในการซื้อสินค้าตกแต่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการนำไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นได้ ทั้งนี้ การสนับสนุนเงินจากภาครัฐ 50,000 บาทต่อราย เป็นจำนวน 100,000 ราย จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรง 5,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โครงการฯ ดังกล่าวที่ออกมา นับว่าเป็นผลด้านบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการฯ นี้ ผู้ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจะต้องผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือน ภาวะรายได้ และการมีงานทำ รวมถึงคุณสมบัติต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่โครงการฯ กำหนด ประกอบกับการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ อาทิ ราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อ รูปแบบของโครงการ และความพร้อมของผู้ซื้อ เป็นต้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กิจกรรมการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยและการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งปี 2562 จะยังติดลบจากปี 2561 จากกิจกรรมที่ชะลอลงในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ และเนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่มากก็จะจบปี 2562 โดยในส่วนของกิจกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณที่กลับมาบวกได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2562 นี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งปี 2562 น่าจะหดตัวประมาณ 10.0% หรือมีจำนวนประมาณ 177,000 หน่วย ซึ่งเป็นภาพที่ดีขึ้น โดยจำนวนการโอนฯ ทั้งปี 2562 นี้ น่าจะเข้าสู่กรอบประมาณการบนที่เคยคาดการณ์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ผู้ประกอบการคงจะให้น้ำหนักในการทำตลาดระบายที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอขายออกไประดับหนึ่ง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2562 นี้ จะมีจำนวนประมาณ 105,000 หน่วย หดตัว 16% จากปี 2561

อนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากเศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป เนื่องจากมาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะทยอยสิ้นสุดในปี 2563 ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้ซื้อต้องเร่งตัดสินใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ