นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันพร้อมสนับสนุนและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเพื่อผลิตน้ำมันที่สะอาด น้ำมันชีวภาพ ภายใต้การดูแลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตจากน้ำมันเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ ที่มีส่วนผสมของเอทานอลในน้ำมันเบนซิน รวมถึงการผลิตน้ำมันดีเซล ก็เปลี่ยนเป็นน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล ภายใต้ B7 B10 และ B20 เป็นต้น ตลอดจนเพิ่มการผลักดันเพื่อผลิตน้ำมันเตาที่ปริมาณกำมะถันต่ำ ตามเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63
ในวันนี้ ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของ กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) หรือ PRISM Expert ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท. จัดงานสัมมนา 2019 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ "Sustainable Energy…Shaping A Better Future – อนาคตพลังงาน สานพลังเพื่อความยั่งยืน"
ทั้งนี้ ภาคเอกชนพร้อมปรับตัวเพื่อนำอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน แต่ขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนก่อนนำนโยบายมาใช้ โดยต้องคำนึงถึงหลายมุมมองและความเหมาะสมที่จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่มีอยู่ 6 แห่งในประเทศ พร้อมลงทุนรวมหลายหมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงโรงกลั่นให้ได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ม.ค.67
ล่าสุด กลุ่มโรงกลั่นที่มีอยู่ 6 แห่งในประเทศ อยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนรวมกันหลายหมื่นล้านบาท เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.67 จากปัจจุบันที่มี 1-2 โรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 รวมกันราว 500 ล้านลิตร/เดือน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดมลพิษและฝุ่นละออง PM2.5 ด้วย
ทั้งนี้ อนาคตของพลังงานที่จะมีความสมดุลได้นั้น ต้องขึ้นกับองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ง่าย และมีความมั่นคงด้านพลังงาน แต่ส่วนใหญ่ทั้ง 3 ด้านมักจะไม่สอดคล้องกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุลด้านพลังงานของไทยมากที่สุด รวมถึงรัฐบาลอาจต้องมีมาตรการจูงใจหรือส่งเสริมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านพลังงานของประเทศ
นายเจน นำชัยศิริ ประธานกิตติมศักดิ์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมจะเกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในภาคไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งการที่จะผลักดันให้พลังงานไทยมีความยั่งยืน ต้องเริ่มจากการปลุกจิตสำนึกการใช้พลังงานเท่าที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐน่าจะเป็นผู้ผลักดันมากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมองเห็นบทบาทและปฎิบัติตาม ขณะเดียวกันการปรับเพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจด้วย เพราะหากสินค้ามีราคาแพงขึ้นมาก ก็อาจจะทำให้ไม่มีผู้ใช้งานเช่นกัน
นอกจากนี้ การใช้พลังงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพลังงานแต่ละประเภทด้วย อย่างโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงหลักก็ยังคงต้องมีอยู่ เพราะจะทำให้ได้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ขณะที่การเข้ามาของพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลกอาจจะเข้ามาเป็นเพียงผู้ช่วยในเรื่องของพลังงานสะอาด เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องขีดความสามารถในการผลิตที่อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่
นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า การที่เทรนด์ทั่วโลกกำลังมุ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษ แต่ก็ยังพบว่ามีข้อจำกัดด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง และความต้องการใช้ที่ยังมีไม่มากนักในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะมีความชัดเจนในการกำหนดนโยบายที่ออกมา เพื่อให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ
ที่ผ่านมา กลุ่มรถยนต์พร้อมปรับเปลี่ยนตามนโยบาย โดยสามารถผลิตรถยนต์เพื่อรองรับการใช้น้ำมันทั้ง E20 และ E85 รวมถึง B20 แล้ว แต่ในอนาคตรัฐบาลมีแผนจะเดินหน้ารถ EV เพื่อลดมลพิษ ก็อยากให้พิจารณาถึงปริมาณรถยนต์เก่าที่ยังคงมีอยู่มากในระบบด้วย เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลจะใช้มาตรฐานไอเสียที่ออกจากเครื่องยนต์ ยูโร 5 และยูโร 6 ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 64 และปี 65 ตามลำดับนั้น เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนรถยนต์เล็กเพิ่มขึ้น 3-5 หมื่นบาท/คันสำหรับยูโร 5 และจากการเพิ่มจากมาตรฐานยูโร 5 เป็นยูโร 6 ต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 7 หมื่นบาท/คัน และสำหรับรถบรรทุกจากยูโร 3 เป็นยูโร 5 ก็มีต้นทุนมากกว่าแสนบาท/คัน ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของปตท. กล่าวว่า การที่จะผลักดันให้พลังงานไทยมีความยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องพิจารณาร่วมกันจากหลายภาคส่วน เพื่อให้มีความคิดเห็นในหลานมุมมอง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมสำหรับการปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศต่อไป