นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นมีผล 3 มี.ค.นี้เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมต่าง ๆ เอื้ออำนวยแล้ว พร้อมทั้งประกาศมีมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์ ทั้งมาตรการสกัดการเก็งกำไรและมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่เงินบาทแกว่งตัวแรงแข็งค่ารับยกเลิกมาตรการ 30% ไปแตะ 31.40-31.60 บาท/ดอลลาร์
อนึ่ง ธปท.ได้ประกาศใช้มาตรการ 30% ตั้งแต่ 18 ธันวาคม 2549
ธปท.ระบุว่า มาตรการรองรับการบริหารจัดการการไหลเข้า-ออกของเงินทุนหลักการยกเลิกมาตรการ รวมทั้งมีมาตรการติดตามข้อมูลและป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินธปท. ซึ่งได้แก่ การสนับสนุนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยเพิ่มวงเงินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)เป็น 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดสรรให้กับ บล. บลจ. รวมทั้งบุคคลธรรมดาที่ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลหรือผ่าน บล. ในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
และปรับปรุงมาตรการป้องปราบการเก็งกำไรค่าเงินบาทที่สำคัญ คือ ปรับเกณฑ์การกู้ยืมเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศจากผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยลดวงเงินกู้ยืมโดยไม่มีธุรกรรมรองรับทุกอายุสัญญาให้มียอดคงค้างแต่ละสถาบันการเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกลุ่มผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ เพื่อจำกัดช่องทางการเก็งกำไร
รวมทั้ง ปรับเกณฑ์การจำกัดการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศแก่ผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยไม่มีธุรกรรมรองรับ ให้มียอดคงค้างแต่ละธนาคารไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่มผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศเพื่อเพิ่มความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศ
ธปท.ยังปรับปรุงโครงสร้างบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ โดยเยกประเภทบัญชีเงินบาทออกเป็นบัญชีเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่น และบัญชีเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เพื่อประโยชน์ในการติดตามการไหลเข้า-ออกของเงินทุน โดยเงินบาทในแต่ละประเภทบัญชีสามารถโอนระหว่างประเภทบัญชีเดียวกันได้ แต่ห้ามโอนข้ามประเภทบัญชี
นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.ยังมีมาตรการชั่วคราวเพื่อสนับสนุนการปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิของผู้ประกอบการรายย่อย(SME) โดยจัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ 3 ปี ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินรวม 4 หมื่นล้านบาท และจัดโครงการรับซื้อต่อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าที่ผู้ประกอบการรายย่อยขายผ่านสถาบันการเงิน เป็นเวลา 6 เดือน
*ภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยเลิก 30%
ผู้ว่าการ ธปท.ระบุปัจจัยที่สนับสนุนการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ว่า จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 4/50 และเดือนมกราคม 2551 ชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และการส่งออกที่ผ่านมาขยายตัวในเกณฑ์สูง
ปริมาณเงินตราต่างประเทศเข้า-ออก มีควาสสมดุลมากขึ้น จากการเกินดุลการค้าเริ่มชะลอลงในเดือนมกราคม 2551 ประกอบกับปริมาณงินลงทุนของไทยในต่างประเทศได้ปรับตัวสูงขึ้นตามการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการอนุญาตให้บุคคลในประเทศฝากเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ภาคการผลิตและภาคการส่งออกได้รับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินได้ดีขึ้นจากการป้องกันควาเมสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ และการกระจายตลาด
ธปท.มีเครื่องมือมากขึ้นในการดูแลสภาพคล่องและค่าเงิน ภายใต้ พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ นอกจากนี้ แผนของกระทรวงการคลังในการปรับปรุงโครงสร้างและบริหารหนี้สาธารณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.หนี้สาธารณะที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ จะช่วยเพิ่มความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย
นอกจากนั้น ในระยะหลังมีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่าจะมีการยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในตลาดก็ได้ปนับเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามคาดการณ์ดังกล่าว จนทำให้ประสิทธิผลของมาตรการลดลงตามลำดับ
"ธปท.ได้พิจารณาปัจจัยด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรอบคอบแล้ว และเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้เหมาะสม เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวชัดเจน ส่งออกขยายตัวดี บวกกับมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทำให้ความเชื่อมั่นเอกชนเพิ่มขึ้น ปริมาณเงินไหล-เข้าออกสมดุลกัน, เงินลงทุนของไทยในต่างประเทศปรับสูงขึ้น, มีการอนุญาตให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับแบงก์ชาติมีเครื่องมือในการดูแลสภาพคล่องมากขึ้น ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับใหม่" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจาก ธปท.ประกาศมาตรการดังกล่าว เงินบาทแข็งค่าไปแกว่งตัวผันผวนที่ระดับ 31.40-31.60 บาท/ดอลลาร์ ก่อนจะมาปิดที่ 31.50/60 บาท/ดอลลาร์
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--