นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศมาตรการรองรับสถานการณ์ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้นที่จะมีผลในวันที่ 3 มี.ค.นี้ โดยมาตรการของกระทรวงการคลังจะเน้นไปที่การลดแรงกดดันค่าเงินบาท และการสนับสนุนให้ออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
"เพื่อเป็นการรองรับความผันผวนที่อาจจะมีขึ้นจากการปรับตัวในระยะแรกภายหลังจากการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30%และเพื่อเป็นการวางรากฐานในการสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออกให้เป็นไปตามกลไกตลาด กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมมาตรการสนับสนุนไว้"เอกสารเผยแพร่ของ ก.คลัง ระบุ
ในระยะเร่งด่วน กระทรวงการคลังจะประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เร่งแปลงหนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศให้เป็นสกุลเงินบาท (Swap และ Refinancing) ในวงเงินรวมประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท
รวมทั้ง ชะลอการกู้เงินต่างประเทศในช่วงนี้ และจะระดมทุนจากแหล่งเงินภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยการเพิ่มวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์ให้แก่ประชาชนรายย่อยและจัดโควต้าพิเศษสำหรับผู้รับบำนาญ วงเงิน 12,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันจะมีการออกพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 ปี เพื่อเตรียมการระดมทุนสำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Projects)
หลังจาก พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะมีผลบังคับใช้ กระทรวงการคลังจะเร่งออกพันธบัตรกู้เงินบาทเพื่อระดมเงินจากในประเทศไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ, ดูแลให้สถาบันการเงินของรัฐบาลขยายการลงทุนในต่างประเทศ และ สนับสนุนให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนรวมที่รัฐบาลกำกับดูแล นำเงินไปลงทุนในแหล่งที่เหมาะสมในต่างประเทศมากขึ้น
และ ปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ และขยายกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมให้สถาบันและบุคคลในประเทศสามารถถือเงินตราต่างประเทศหรือนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ได้ประกาศใช้มาก่อนหน้านี้
กระทรวงการคลัง ยังจะมีมาตรการวางรากฐานในการสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและไหลออก และมาตรการกระตุ้นและเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเร่งลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตมากขึ้น โดยให้ผู้ลงทุนสามารถหักค่าเสื่อมราคาของสินค้าทุนได้เร็วขึ้น กำกับดูแลการเบิกจ่ายเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Projects) ของภาครัฐให้เป็นไปตามกำหนดเวลา รวมทั้งช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม
เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายและผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสถาบันการเงินของรัฐเป็นแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการเงินให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก และให้แก่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ตามปกติ
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--