คลังเผยศก.ไทยต.ค.ยังได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศ-ยอดนักท่องเที่ยวสูงสุดในรอบ 19 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 28, 2019 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2562 พบว่า เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภายในประเทศที่สะท้อนผ่านยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ บนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวถึง 6.0% ต่อปี และเศรษฐกิจด้านอุปทานจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวถึง 12.5% ต่อปี สูงสุดในรอบ 19 เดือน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงชะลอตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ บนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้น 6.0% ต่อปี ขณะที่ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มฯ บนฐานการนำเข้าชะลอตัว -17.9% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 2.0% ต่อปี และรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ 0.1% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัว -1.8% ต่อปี และยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัว -7.6% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ซื้อรอเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.9 เป็นผลมาจากความกังวลจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ Brexit และประเด็นการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของไทย (GSP)

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ -13.5% ต่อปี จากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า สามารถขยายตัวสูงขึ้น 9.0% ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ 1.0% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว -12.8% ต่อปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงชะลอตัวที่ -9.0% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -3.1% ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศลดลง

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ -4.5% ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดน้ำมัน ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่ม ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัว -7.6% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2562 เกินดุล 506.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคพบว่า หลายประเทศมีการส่งออกชะลอตัวเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวน 3.04 ล้านคน ขยายตัว 12.5% ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก ซึ่งขยายตัวที่ 27.8% ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มูลค่า 147,801 ล้านบาท ขยายตัวที่ 9.3% ต่อปีเช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 1.2% ต่อปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -8.5% ต่อปี

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.2 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นปัจจัยลบต่อภาคการส่งออก อีกทั้งการพิจารณาสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.1% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลงในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 41.1% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 222.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ