คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) ได้ตัดสินให้มาตรการของสหรัฐที่เรียกเก็บภาษีกุ้งนำเข้าราคาถูกจากอินเดียและประเทศไทยนั้นเป็น การกระทำที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อความพยายามของสหรัฐที่จะจัดการกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกอย่างไม่เป็นธรรม
คณะกรรมการชุดดังกล่าวของดับเบิ้ลยูทีโอระบุว่า ข้อกำหนดของสหรัฐที่บังคับให้อินเดียและไทย ต้องวางเงินค้ำประกันเพื่อเป็นค่าภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (เอดี) ทั้งหมดจากการนำเข้ากุ้งนั้น เป็นการละเมิดกฎการค้า
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการมีมติสนับสนุนข้อร้องเรียนของไทยเกี่ยวกับวิธีการคำนวณภาษีเอดี ซึ่งถือเป็นการยืนยันคำตัดสินเบื้องต้นที่ออกมาในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยคณะกรรมการพบว่า การใช้เงินค้ำประกันภาษีทั้งหมดนั้นไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบการต่อต้านการทุ่มตลาด
ที่ผ่านมานั้น สหรัฐพยายามขัดขวางคำร้องของไทยที่ต้องการให้ดับเบิ้ลยูทีโอจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐรู้สึกผิดหวังที่ไทยนำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนต่อดับเบิ้ลยูทีโอ เนื่องจากสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอมีสิทธิที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศผู้นำเข้าชำระภาษีด้วยตนเอง
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของไทยกล่าวว่า การเรียกเก็บภาษีขาเข้าเป็นการคุกคามการดำเนินชีวิตและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งของไทย ซึ่งได้มีการจ้างงานประมาณ 1 ล้านคน สำนักข่าวเอพีรายงาน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--