กกพ.พร้อมปรับเกณฑ์ใบอนุญาตนำเข้าก๊าซฯ หลังกฟผ.ทดลองนำเข้า LNG ปี 63 รองรับ BGRIM-RATCH สนใจนำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 2, 2019 08:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนได้หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต Shipper รายที่สองต่อจากบมจ.ปตท. (PTT) จะเริ่มทดลองนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร (spot) จำนวน 2 ล็อต รวม 1.3 แสนตัน ในเดือนธ.ค.62 และเดือนเม.ย.63

ขณะที่ปัจจุบันมีเอกชนหลายรายที่ให้ความสนใจเข้ามาสอบถามเพื่อขอเป็นผู้นำเข้า LNG เช่น บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) แต่ยังไม่มีรายใดยื่นขอเป็น Shipper เพิ่มเติม เพราะยังต้องดูรายละเอียดเกณฑ์การนำเข้าให้มีความชัดเจนก่อน

"กฟผ.จะทดลองนำเข้า 2 ช่วงในเดือนธันวา ซึ่งเป็นหน้าหนาว ซัพพลาย LNG เยอะ ราคาก็จะถูก และเดือนเมษา เป็นช่วงใช้ไฟเยอะ ราคา LNG แพง ก็จะดูว่าจะบริการจัดการก๊าซฯทั้งระบบอย่างไร จะมีผลกระทบอย่างไร เพื่อปรับปรุงเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม น่าจะมีความชัดเจน ตอนนี้เอกชนหลายรายถามเข้ามาเยอะ"นายคมกฤช กล่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า การทบทวนเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่ชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะต้องพิจารณาหลายส่วนประกอบกัน โดยหากเป็นการปรับปรุงเพียงกฎระเบียบทางกกพ.ก็สามารถดำเนินการได้เอง แต่หากเกี่ยวพันกับกฎหมายการประกอบกำกับกิจการพลังงาน ก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งอาจจะใช้เวลานาน

นอกจากนี้จะกำหนดแนวทางดูแลผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ (TSO) เพื่อรองรับนโยบายการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซฯ ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส มีอิสระ และมีประสิทธิภาพ

นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่เดิมคาดว่าจะประกาศใช้ในปี 63 นั้นคงจะต้องเลื่อนออกไป หลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมหลายด้าน โดยจะนำผลการศึกษาที่ได้เคยว่าจ้างสถาบันการศึกษาหลายแห่งศึกษามาประกอบการพิจารณาภาพรวมทั้งหมดตามเทคโนโลยีและนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลง หลังจะเกิดโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ หรือโรงไฟฟ้าชุมชน โดยตั้งเป้าจะประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ในปี 64

อย่างไรก็ตามคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อขอใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าเดิมสำหรับการพิจารณาค่าไฟฟ้าสำหรับปี 63 อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า โครงสร้างปัจจุบันก็มีผลดีในแง่การนำเงินลงทุนของ 3 การไฟฟ้าที่ลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (call back) มาบริหารจัดการจนทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่เปลี่ยนแปลง ติดต่อกัน 4 งวด นับตั้งแต่ต้นปี 62 จนถึงเม.ย.63

นอกจากนี้กกพ.ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ กกพ. พ.ศ. 2563-2567 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับกิจการพลังงานของประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ เช่น กำกับการส่งเสริมการแข่งขันได้ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ,ประกาศหลักเกณฑ์ข้อกำหนดการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สามภายในปี 64 , ผู้ประกอบกิจการพลังงาน 100% มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบกิจการพลังงาน เป็นต้น

สำหรับงบประมาณดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ กกพ. พ.ศ. 2563 – 2567 มีวงเงินงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์ จำนวนทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนาระบบการกำกับให้ผู้ประกอบการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ วงเงิน 2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของงบประมาณทั้งหมด เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน

รองลงไปเป็นการดำเนินงานตามกลยุทธ์พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของงบประมาณทั้งหมด และกลยุทธ์ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ของงบประมาณทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ