ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ข้อมูลศก.สหรัฐซบเซา ถ่วงดอลล์อ่อนเทียบสกุลหลักๆ

ข่าวต่างประเทศ Monday March 3, 2008 06:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ภาวะการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 ก.พ.) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดอลลาร์ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดระดับใหม่เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและอ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีเมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ค่าเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 1.5194 ดอลลาร์/ยูโร หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดระดับใหม่ที่ 1.5238 ดอลลาร์/ยูโร ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์แข็งแกร่งขึ้นแตะระดับ 0.7987 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับของวันพฤหัสบดีที่ 0.8155 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์
ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวลงแตะระดับ 0.9310 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 0.9487 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงแตะระดับ 103.96 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 105.36 เยน/ดอลลลาร์ และอ่อนตัวลงแตะระดับ 1.0433 ฟรังซ์สวิส/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0503 ฟรังซ์/ดอลลาร์
แกรี่ ธอมสัน นักวิเคราะห์จากซีเอ็มซี มาร์เก็ตส์กล่าวว่า "ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงเพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐและการร่วงลงของตลาดหุ้นนิวยอร์ก ผมคาดว่าสัญญาณบ่งชี้เศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลงอีกในปีนี้"
มหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 70.8 จุดซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.ที่ระดับ 78.4 จุด ขณะที่สำนักงานคอนเฟอร์เรนซ์ บอร์ด ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยเอกชนของสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ.ของสหรัฐ ร่วงลงแตะระดับ 75.0 จุด จากระดับ 87.3 จุดในเดือนม.ค.
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 2550 ขยายตัวขึ้นเพียง 0.6% หลังจากขยายตัวแข็งแกร่งที่ 4.9% ในไตรมาส 3 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัว 0.8% ส่วนจีดีพีตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545
ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.9% ในไตรมาส 4 ลดลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 2.8% ส่วนตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคตลอดปี 2550 ขยายตัวเพียง 2.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546
ข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง ขณะที่สกุลเงินยูโรแข็งแกร่งขึ้นเนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของสกุลเงินยูโรทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสเรียกร้องให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา เพราะความแข็งแกร่งของยูโรกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออก
ฟาบรีซ เบรจิเยร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทแอร์บัสกล่าวว่า ความแข็งแกร่งของค่าเงินยูโรทำให้แอร์บัสต้องเร่งระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างองค์กร อีกทั้งส่งผลกระทบต่อความสามารถของแอร์บัสในการเข้าลงทุนใหม่ๆ
ขณะที่ หลุยส์ กัลลัวส์ ประธานบริษัทอีเอดีเอสซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแอร์บัส กล่าวว่า ทุกครั้งที่ยูโรแข็งค่าขึ้น 10% จะทำให้บริษัทขาดทุนเท่ากับ 1 พันล้านยูโร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ