นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เตือนปัจจัยต้องระวังในช่วง 2-3 ปีนี้คือสงครามค่าเงินอาจทวีความรุนแรงขึ้นจากสภาพคล่องล้นระบบเป็นผลที่หลายประเทศใช้มาตรการผ่อนคลายหวังผลักดันเศรษฐกิจฟื้นจากสภาพชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกดดันให้เงินบาทแข็งค่าหนักขึ้นและกระทบต่อส่งออกไทยมากขึ้นในระยะถัดไป ขณะที่ตลาดหุ้นไทย Valuation สูง-อัพไซด์จำกัด แนะเพิ่มความระมัดระวังเลือกหุ้นเข้าพอร์ต
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจไทยจะซบเซา เป็นไปตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังมีโอกาสเห็นเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้บ้างในปี 63 ด้วยแรงสนับสนุนของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 63 ของภาครัฐ และแรงกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายๆประเทศทั่วโลก
*มุมมองต่อวลี "ปีหน้าเผาจริง-ปีนี้เผาหลอก"
นายประกิต ยอมรับว่า ได้ยินคำนี้มาบ่อย "ปีหน้าเผาจริง ปีนี้เผาหลอก"แต่อยากทุกคนหวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดก่อน ไม่อยากให้ไปขยายความจากสิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะปัจจุบัน แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยซบเซาเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังแย่ ซึ่งหลายประเทศในเอเชียก็ได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกัน อาทิ สิงคโปร์ ,ฮ่องกง เป็นต้น
แต่เชื่อว่าในปีหน้ารัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกจะหันมาใช้นโยบายนโยบายงบประมาณขาดดุลครั้งใหญ่ ด้วยวิธีการกู้เงินเพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะที่เอื้ออำนวยภายใต้เงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ระดับต่ำ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกกลับมาดีขึ้น ขณะที่ประเทศไทยหากรัฐบาลมีโอกาสใช้งบประมาณปี 63 ก็จะเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้มีความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้า แต่เชื่อว่าในระยะถัดไปมีโอกาสผ่อนคลายและบรรเทามากขึ้น เพราะผู้นำของ 2 ประเทศเตรียมทำข้อตกลงด้านการค้าเฟสแรกกันแล้ว
"วันนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเศรษฐกิจไม่ดี แต่ประเทศอื่นๆ ก็ต้องเอาตัวรอดเช่นกัน ล่าสุดสิงคโปร์ประกาศว่าจะทำทุกทางให้เศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น ขณะที่ประเทศอินเดีย ก็ใช้นโยบายกระตุ้นด้วยการปรับลดภาษีนิติบุคคล ผมไม่อยากให้ไปขยายความว่าเศรษฐกิจวันนี้ไม่ดี แล้วปีหน้าก็จะไม่ดีต่อ ไม่อยากให้มองอย่างนั้น แม้ว่าวันนี้เราเห็นหลายอุตสาหกรรมล้มหายตายจากไป เช่น อุตสาหกรรมสื่อ ,อุตสาหกรรมการเงิน แต่โลกใบนี้ยังหมุนเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น วันนี้ยังเชื่อเรื่องการปรับตัว มีอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น อาชีพใหม่เกิดขึ้นเป็นวัฎจักรที่ชดเชยกัน ไม่ใช่ทุกคนกำลังลงเหวทั้งหมด เรายังมีคนเก่งที่ปรับตัวได้ และรอดจากการเปลี่ยนแปลงเสมอ"นายประกิต กล่าว
*เตือนสัญญาณอันตรายสงครามค่าเงินเสี่ยงเงินบาทโดน"โจมตี"
นายประกิต กล่าวว่า สิ่งที่เป็นกังวลว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป น่าจะเกิดในอีก 2-3 ปีข้างหน้าคือสงครามค่าเงินกำลังจะมา เป็นผลจากการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ประกอบกับรัฐบาลของแต่ละประเทศเปิดโอกาสกู้เงินครั้งใหญ่ ส่งผลให้สภาพคล่องเม็ดเงินในระบบสูงขึ้น
แต่คำถามคือสภาพคล่องจำนวนมหาศาลไหลจะเข้าสู่สินทรัพย์ประเทศใด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะไหลเข้าสู่สินทรัพย์กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นผลกระทบเชิงลบโดยตรงกับการค้าระหว่างประเทศ และเป็นปัจจัยกดดันให้ส่งออกของไทยไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดหวัง
ส่วนผลกระทบอีกด้าน คือ วิกฤตตราสารหนี้อาจกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากเกิดภาวะ "Search For Yield" เงินไหลเข้าไปหาสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงแบบผิดปกติคล้ายกับภาวะฟองสบู่ และมีโอกาสรุนแรงมากกว่าเดิม
"สภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จะเริ่มเห็นเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น แต่ถ้าย้อนมองเศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบเงินบาทแข็งค่า ผลตามมาคือตัวเลขการค้าของไทยมีโอกาสพลิกจากเกินดุลการค้า เป็นขาดดุลการค้า กลายเป็นช่องว่างให้โดน "โจมตี" ค่าเงินบาทในระยะถัดไปได้"นายประกิต กล่าว
*ตลาดหุ้นไทยปี 63 อัพไซด์จำกัด ปรับพอร์ตเน้นหุ้นพื้นฐานดี
นายประกิต กล่าวว่า ยังมีความเชื่อว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 63 มีโอกาสดีขึ้นสอดคล้องไปกับภาวะเศรษฐกิจโลก หลังจากคาดว่าแต่ละประเทศใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 63
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอาจมีอัพไซด์ค่อนข้างจำกัด เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นไทย Valuation ไม่ได้ถูก หลังจากกำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3/62 ประกาศออกมาต่ำกว่าคาด จำเป็นที่นักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการณ์ทั้งปี ซึ่งเดิมฝ่ายวิจัยฯคาดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปีนี้อยู่ที่ 97 บาท/หุ้น ขณะนี้คาดว่าอาจลงมาต่ำกว่า 96 บาท/หุ้น ซึ่งต้องมาติดตามกำไรในไตรมาส 4/62 ว่าจะพลิกกลับมาเติบโตได้มากกว่าประมาณการณ์หรือไม่
ทั้งนี้ ในกรณีหากกำไรไตรมาส 1/63 ของบริษัทจดทะเบียนยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นอย่างชัดเจน อยากให้นักลงทุนคงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในปีหน้าด้วย
"แม้บรรยากาศลงทุนจะเป็นเชิงลบ แต่ในช่วงเดือน ธ.ค.62 -ก.พ.63 เรายังมีโอกาสที่จะได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นไปทดสอบ 1,670-1,680 จุด หรือบรรยากาศเป็นบวก น่าจะเห็นขึ้นไปทดสอบ 1,700 จุด ด้วยพลังงานแห่งความคาดหวัง ปัจจัยบวกจากการที่ไทยมีโอกาสถูกปรับขึ้นอันดับเครดิตในประเทศ ขณะที่แรงขายต่างชาติน่าเบาบางลง จากดัชนี MSCI ไม่ได้ลดน้ำหนักหุ้นในไทยขณะที่ยังแรงซื้อ LTF ช่วงปลายปีเข้ามาหนุน"
นายประกิต แนะนำว่า การจัดพอร์ตลงทุนช่วงนี้ ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เป็นตราสารทุนที่มีปันผลดี สัดส่วน 30% ตราสารหนี้แบบผสมในพันธบัตรรัฐบาล ,หุ้นกู้เอกชนที่มีเครดิตมั่นคง สัดส่วน 50% และที่เหลืออีก 20% เลือกลงทุนในทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ Commodities เพื่อชดเชยเงินเฟ้อในอนาคต
คุณสมบัติของหุ้นที่ควรเลือกซื้อในช่วงนี้ ต้องเน้นบริษัทมีความแข็งแกร่งผ่านพ้นมาหลายมรสุม อาทิ แนวโน้มการเติบโตและรักษาระดับของรายได้และกำไรมีความสม่ำเสมอ แม้ว่าจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ตาม นอกจากนั้น ต้องพิจารณาตัวเลขบ่งชี้บริษัทที่มีกำไรในอดีตที่ดี อาทิ อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่ต่ำกว่า 15% ,ควบคุมอัตรากำไรขั้นต้นได้ดี ,ฐานะทางการเงินมั่นคง มีหนี้สินต่อทุนน้อย ,จ่ายปันผลสม่ำเสมอ และ P/E ไม่สูงจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดฯผันผวน เป็นต้น โดยปกติแล้วหุ้นบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ แม้ว่าจะปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดฯ แต่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดี หุ้นของบริษัทเหล่านี้ก็จะดีดกลับขึ้นอย่างรวดเร็ว
https://youtu.be/aGSk4z2Zlyw