นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 62 มีมูลค่า 13,974.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 37.59% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 434,752.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.01% โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น ยังคงมาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 93.23% แม้ว่าเดือน ต.ค.62 การส่งออกทองคำชะลอตัวลงจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ลดลง นักลงทุนเทขายทองคำออก และหันไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงแทน หลังจากตลาดคลายความกังวลจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มบรรลุข้อตกลงทางการค้า และยังคลายความกังวลจากปัญหาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ที่เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.63
ทั้งนี้ หากดูเป็นรายสินค้าพบว่า พลอยสียังคงเป็นสินค้าดาวรุ่ง การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน โดยเพิ่มขึ้น 309.03%, 7.54% และ 14.36% ตามลำดับ ขณะที่เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่มขึ้น 410.64% เครื่องประดับเทียมเพิ่ม 0.14%
สำหรับตลาดส่งออก พบว่า ตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นสูงสุด 198.03% รองลงมาคือ อินเดียเพิ่มขึ้น 98.25% และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น 0.95% ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ของไทยลดลง 3.82% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการประท้วง นักท่องเที่ยวลด ทำให้ร้านค้าปลีกจำนวนมากปิดตัวลง ขณะที่สหภาพยุโรปลดลง 3.54% สหรัฐฯลดลง 7.61% จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่น ลดลง 6.54% จากการส่งออกลดลง จีนลดลง 13.31% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เป็นต้น
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 62 ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประเด็น โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้า Brexit เหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่นำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจ รวมถึงเงินบาทที่ยังแข็งค่า ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย
"ผู้ประกอบการไทยต้องปรับกลยุทธ์ โดยต้องเร่งรุกบุกตลาดที่ยังเติบโตได้ดี อย่างอินเดีย อาเซียน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในการขยายตลาดทั้งอาเซียนและอินเดีย และให้ความสำคัญกับการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ เพื่อขยายการค้าสู่ตลาดต่างๆ รวมถึงสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพราะจะช่วยพยุงธุรกิจและรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทยไว้ได้" นายวีรศักดิ์ กล่าว