นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data เกี่ยวกับเกษตรกรโดยให้จัดหมวดหมู่ว่าเกษตรกรไทยมีการทำเกษตรกรรมในรูปแบบใดบ้าง เพาะปลูกพืชชนิดใด เพื่อที่จะได้นำข้อมูลเหล่านี้เป็น Big Data และให้ทุกกระทรวงมาร่วมกันทำการวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น เกษตร GPA เกษตรอินทรีย์ ตลอดจนภาคปศุสัตว์ และให้ครอบคลุมไปถึงการจ้างงานทุกพื้นที่ในช่วงที่ไม่มีการทำการเกษตรด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการนำมาวางแผนยุทธศาสตร์ในภาพรวมสำหรับการดูแลเกษตรกรไทยอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาเกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer อย่างยั่งยืนต่อไป
"ฝากทำความเข้าใจในพื้นที่ว่าไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่เป็นพนักงานรับเงินเดือนหรือมนุษย์เงินเดือน ซึ่งจะมีมาตรการออกมาดูแลในระยะต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงข่าวดีของประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีราคายาถูกที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 1 กล่าวคือถูกกว่าราคาเฉลี่ยโลก 93.93% อันดับที่ 2 ประเทศเคนยา อันดับ 3 มาเลเซีย อันดับ 4 อินโดนีเซีย
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยดูแลราคายา ทำให้ผู้ป่วยในประเทศไทย ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงราคายาที่เหมาะสม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวถึงงาน THAILAND RUBBER ที่ได้ไปร่วมพิธีเปิด ซึ่งทำให้เห็นวิวัฒนาการหลายอย่างที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยพัฒนาการและนวัตกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ทันสมัย ครอบคลุมการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งระบบ และมีมาตรการส่งเสริมเกษตรกรอย่างจริงจัง รวมถึงการนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด
"ท่านนายกฯ ได้ฝากให้หน่วยงานต่างๆ ของรัฐและทุกกระทรวงที่อยู่ในห้องประชุม ครม. หันมาใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราไทยให้มากขึ้น ถ้ายังติดขัดในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก็ขอให้เร่งแก้ไข เพื่อให้เกษตรกรไทยได้รับการสนับสนุนสามารถขายยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางได้มากขึ้น" นางนฤมล ระบุ
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้พูดถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี โดยฝากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือสำนักงาน EEC เร่งขับเคลื่อนการสร้าง Smart City หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งเมืองที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนกับเมืองปูซาน ที่มีการสร้าง Busan Eco Delta Smart City หรืออีกมิติหนึ่ง คือการทำเมืองที่มีอยู่แล้วให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยฝากให้กระทรวงต่างๆ ไปพิจารณาดูพื้นที่และมาตรการที่จะทำให้เกิดขึ้น รวมทั้งนำเอานวัตกรรมความทันสมัยเทคโนโลยีทั้งหลายใส่เข้าไป
"ท่านนายกฯ มีแนวคิดให้ขยายเมืองของเรา เช่น กรุงเทพมหานครออกไปทางรอบนอก โดยสร้างให้เป็น Smart City แต่ข้อสำคัญคือต้องมีเส้นทางคมนาคมที่ไปถึง Smart City จึงจะเกิดขึ้นได้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว