นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยมูลค่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (GDP SME) ไตรมาส 3/62 ขยายตัวได้ 3.1% เท่ากับไตรมาสก่อน โดยมีมูลค่า 1.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.6% ต่อ GDP รวมทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 42.6% ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ GDP SME ขยายตัวได้ 3.3%
ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 3/62 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 มีอัตราการขยายตัว 2.4% ขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจาก 2.3% ในไตรมาสก่อน และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5%
ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคภาคครัวเรือน การบริโภคภาครัฐบาล และการลงทุนรวม ส่วนภาคการส่งออกและนำเข้าสินค้าหดตัวต่อเนื่อง โดย GDP ภาคการเกษตรและภาคบริการมีการขยายตัว ในขณะที่ภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออก เป็นหลัก
ในส่วนของสาขาธุรกิจ SME ที่ขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่แล้ว ได้แก่ ธุรกิจบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ธุรกิจการเงินและการประกันภัย ธุรกิจด้านศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ และ บริการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ขณะที่ SME ในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รวมถึงธุรกิจบริการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ยังคงเป็นธุรกิจที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว
สำหรับ SME สาขาธุรกิจที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่แล้ว ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง โดยชะลอตัวตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งเขตเทศบาล สาขาธุรกิจที่สำคัญอื่นๆ ที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการทางวิชาชีพฯ
ธุรกิจ SME สาขาการผลิตหดตัวลง 1.5% ต่อเนื่องจากการหดตัว 0.2% ในไตรมาสก่อน ซึ่งมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมวัตถุดิบ เช่น การพิมพ์ ยางและพลาสติก และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวของภาคการส่งออก
ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของ GDP SME ใน 9 เดือนแรกของปี 62 แม้ว่า GDP SME จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี แต่ยังคงขยายตัวได้สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งประเทศ และพบว่าปัจจัยที่สำคัญต่อการขยายตัวของธุรกิจ SME ยังคงมาจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกอื่นๆ นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้ ธุรกิจ SME ภาคการค้าปลีกค้าส่ง และธุรกิจบริการขนส่งพัสดุ ยังคงเติบโตได้สูงจากการขยายตัวของ e-commerce
ด้านการส่งออกของ SME ช่วง 9 เดือนแรกของปี 62 มีมูลค่า 1,813,917.3 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.6% และเมื่ออยู่ในรูปดอลลาร์สหรัฐจะมีมูลค่า 58,065.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเท่ากับ 5.9% แต่หากไม่รวมสินค้าในหมวดทองคำ (HS 7108) จะหดตัว 0.4% โดย SME มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อการส่งออกรวมเท่ากับ 28.8% แม้ว่าการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐอเมริกาจะยังขยายตัวจากการส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน แต่ปัจจัยทางด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่า จะส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมของ SME ปี 62 หดตัวหรือขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สำหรับสินค้าส่งออกที่ SME ไทยมีศักยภาพและเติบโตได้ต่อเนื่อง ได้แก่ ผลไม้สดและผลไม้แปรรูป รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ
สำหรับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สสว. คาดว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ SME น่ายังคงทรงตัวและอาจขยายตัวเร่งขึ้นได้ เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปลายปี ดังนั้น สสว. จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจของ SME ปี 62 เท่ากับ 3.5% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.5-4.0% ในไตรมาสที่แล้ว