ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย.62 อยู่ที่ 69.1 ลดลงจากเดือน ต.ค. 62 ที่อยู่ในระดับ 70.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ต่ำสุดในรอบ 67 เดือน เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ย.อยู่ที่ 56.4 ลดลงจากเดือน ต.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 57.9 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 65.4 ลดลงจาก 67.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 85.6 ลดลงจาก 87.3 เช่นกัน
โดยมีปัจจัยลบ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)ของไทยปี 62 เหลือ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.0% ถือเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี, ตัวเลขการส่งออกในเดือนต.ค. ลดลง 4.54%, ราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า และผู้บริโภค ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว
ส่วนปัจจัยบวก คือ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ลดดอกเบี้ย 0.25%, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ที่มี"ชิมช้อปใช้" เฟส 3 ออกมา, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.62 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และลดลงต่ำสุดในรอบ 67 เดือน แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้า และกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน, การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว "การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการอย่างต่อเนื่อง เพราะความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมือง ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเชิงลบในอนาคต จึงทำให้ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสแรกปีหน้า ซึ่งรัฐบาลควรใช้นโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง" นายธนวรรธน์ กล่าว พร้อมมองว่า ต้องติดตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งยังมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้ในช่วงต้นปีหน้า จากเม็ดเงินของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่จะเริ่มขับเคลื่อนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เชื่อว่าจะเห็นภาพความชัดเจนได้มากขึ้นจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งกรณีสงครามการค้า และกรณี Brexit โดยเมื่อปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มีความชัดเจนมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้ แต่หากภายในเดือนก.พ.ปีหน้า ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัว ก็มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะยังปรับลดลงต่อเนื่อง และจะกลายเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจมีผลทำให้ GDP ปีหน้าเติบโตได้ต่ำกว่า 2.5% "ในช่วง ธ.ค.62 ม.ค. และ ก.พ.63 น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนจากหลายๆ ด้าน ทั้งงบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่คาดว่าจะเริ่มใช้ได้, สถานการณ์การเมืองในประเทศ รวมทั้งปัญหา Trade War และ Brexit เมื่อมีความชัดเจนขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็น่าจะเริ่มกลับมาได้ในช่วง ม.ค. หรือ ก.พ. แต่หาก ก.พ.แล้วยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลงต่อเนื่อง ก็จะถือว่าเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และ GDP ปีหน้าก็มีโอกาสจะโตได้ไม่ถึง 2.5%" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ระบุ