บอร์ด กพอ. ตั้งคกก.กำกับดูแลโครงสร้าง-สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน/กำชับเร่งศึกษาโครงการจัดการขยะ ภายใน 3 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 6, 2019 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 11/2562 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ประชุม กพอ.ให้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแล คณะกรรมการบริหารสัญญาและโครงสร้างการบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อบริหารสัญญาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะช่วงเริ่มโครงการฯ ที่เน้นการออกแบบและการก่อสร้างเป็นหลัก

พร้อมกันนี้ พิจารณาเห็นชอบตามคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ประชุมครั้งที่ 2/2562 เมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 ทั้งในส่วนของแผนการส่งมอบพื้นที่ รื้อย้ายสาธารณูปโภค และกรอบวงเงินที่จำเป็น ให้หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรงบประมาณในการรื้อย้ายเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเริ่มการก่อสร้าง ส่วนแผนการก่อสร้างทดแทนกลับคืนหลังรื้อย้ายนั้น ที่ประชุม กพอ.ให้ กบอ.มอบหมายคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ และทำรายละเอียดให้เสร็จภายใน ม.ค.63

สำหรับ การจัดการขยะในพื้นที่ EEC สู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน โดย ที่ประชุม กพอ.ได้พิจารณาสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ EEC ที่คาดว่าเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณ 4,200 ตัน/วัน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 6,800 ตัน/วัน ในปี 2580 แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการ และขยะที่เกิดขึ้นก็ปริมาณมากขึ้นทุกวัน ซึ่งหากยังใช้การฝังกลบแบบเดิม นอกจากขยะไม่ย่อยสลายแล้ว ก็ยังสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งต้องหาพื้นที่เพิ่ม เพื่อรับรองปริมาณขยะที่สูงถึง 1.66 ไร่/วัน

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการขยะในพื้นที่ EEC เกิดขึ้นอย่างประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงเสนอกรอบแนวทางขยายผลต้นแบบของระยองโดยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 3 จังหวัด EEC เพิ่มอีก 6 แห่ง ซึ่งสามารถกำจัดขยะมูลฝอยทั้งรายวัน และขยะสะสมรวม 6,000 ตัน/วัน สามารถผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะได้ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถกำจัดขยะที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวันและกำจัดขยะที่สะสมได้กว่า 5.57 ล้านตัน ในพื้นที่ EEC ให้หมดไปภายใน 12 ปี

โดยที่ประชุมได้มีมติดังนี้ 1) ให้ สกพอ.ประสานจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำโครงการบริหารจัดการขยะในพื้นที่อีอีซี ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน ทั้งขยะบก บนเกาะ และในทะเล ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้กลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้าร่วมศึกษา 2) ให้จังหวัดในพื้นที่ EEC เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งโรงงานขยะ และโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และ 3) ให้กระทรวงพลังงานพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ EEC

ขณะที่ การพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง "อีอีซี โมเดล" ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ดังนี้

1.ความคืบหน้าการพัฒนาบุคลากรใน EEC ใน 2 ปี โดยใช้หลักการ Demand Driven มี 2 รูปแบบ คือ 1) EEC Model Type A : เอกชนร่วมจ่าย 100% มีสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่เข้าร่วม 12 สถาบัน โดยปีการศึกษา 2562 มีนักศึกษาในระบบ 1,117 คน และมี MOU ร่วมกับผู้ประกอบการใน EEC พัฒนากำลังคนทั้งในระดับอาชีวะและปริญญาตรี จำนวน 44,000 คน 2) EEC Model Type B เอกชนร่วมบ้าง 10-50% ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรจัดการเรียนรู้บางส่วน และรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน แต่ไม่ประกันการจ้างงาน โดยกลุ่มนี้มีการผลิตกำลังคนใน 36 วิทยาลัย รวม 5,100 คน และจะขยายให้ครอบคลุม 48 วิทยาลัยในภาคตะวันออก

2.แนวทางการสนับสนุนบัณฑิตอาสา เพื่อกระจายโอกาสสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างอนาคตให้บัณฑิตอาสาในพื้นที่ EEC : เปิดรับสมัครคัดเลือกบัณฑิตระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สำเร็จการศึกษาไม่เกิน 3 ปี จำนวน 120 คน เพื่อฝึกอบรม 2 เดือนและทำงานในพื้นที่ EEC ของ 30 อำเภอ โดยทำงานร่วมกันระหว่าง ม.บูรพาและมหาลัยเครือข่าย ซึ่งคาดว่าจะได้บัณฑิตอาสารุ่นแรก ภายในเดือนมกราคม 2563 ประมาณ 30 คน จาก 3 จังหวัด ใน EEC

3.แนวทางการปรับฐานภาษาอังกฤษของนักเรียนอาชีวศึกษาใน EEC (อาชีวะอินเตอร์) พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐในพื้นที่ EEC จัดการเรียนแบบ Content Language Integrated Learning (CLIL) เพื่อยกระดับศักยภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมสากล สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในวิชาชีพได้อย่างมั่นใจ และทำงานได้ค่าตอบแทนสูง

ส่วนแผนการยกระดับบริการสาธารณสุขในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เห็นชอบแผนยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ EEC โดยมีหลักการ 3 ด้าน 14 โครงการ ได้แก่ 1) จัดทำข้อมูลชุดเดียวกัน สำหรับพัฒนาระบบข้อมูลให้ครอบคลุมในพื้นที่ 2) รัฐและเอกชนร่วมทุน โดยเป็นการลงทุนระหว่างกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในพื้นที่ โดยจัดทำการบริการในโรงพยาบาลให้คล่องตัว เพื่อความสะดวกของประชาชน และ 3) เครือข่ายเดียว ระบบเดียว บริการรัฐแนวใหม่อาศัยการทำงานบนความร่วมมือของเครือข่ายภาครัฐสังกัดต่างๆ อปท. และเอกชน โดยใช้ทรัพยากรบุคคลและทรัพยากรอื่นร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ