นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2562 เมื่อเดือนพ.ย.62 และได้ออกประกาศจำนวน 7 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานสำหรับธนาคารผู้ประสานงาน และสถาบันการเงินประชาชน เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา
โดยประกาศคณะกรรมการฯ จำนวน 7 ฉบับดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. กำหนดให้ธนาคารผู้ประสานงาน จัดทำรายงานการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นรายไตรมาส และส่งรายงานดังกล่าวให้นายทะเบียนสถาบันการเงินประชาชน (นายทะเบียนฯ) เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ ทราบ
2. กำหนดให้ธนาคารผู้ประสานงาน ประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงิน และข้อมูลทั่วไปของสถาบันการเงินประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นประจำทุกเดือน และจัดทำระบบฐานข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของนายทะเบียนฯ
3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้สถาบันการเงินประชาชนถือปฏิบัติในการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหญ่ การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง และการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อเงินกองทุน
รองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะนายทะเบียนฯ ได้ออกประกาศเพื่อกำหนดแบบคำขอ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน รวมถึงประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการมอบอำนาจของสมาชิกสถาบันการเงินประชาชนในการประชุมใหญ่ และการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนหุ้นของสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นมา
"องค์กรการเงินชุมชนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมาย และสนใจจะจดเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน สามารถติดต่อธนาคารผู้ประสานงาน (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน) เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชน ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" นายพรชัยระบุ