ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ปี 63 โต 2.7% ส่งออกยังติดลบ-ลุ้นการเมืองสงบ/มองบาทสิ้นปีนี้มีสิทธิแข็งค่าหลุด 30

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 9, 2019 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 ว่าจะขยายตัวที่ 2.7% โดยมีกรอบประมาณการ 2.5%-3% ซึ่งหวังแรงหนุนจากภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน บนเงื่อนไขสำคัญ คือรัฐบาลต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ

แต่หากมีกรณีที่สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้าในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และมีผลลบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภาคเอกชน ก็อาจทำให้ GDP ปีหน้าเดินหน้าเข้าหากรอบล่างของประมาณการที่ 2.5% หรือต่ำกว่านั้น

ขณะที่ ภาคการส่งออกปีหน้า คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องมาอยูที่ -1% เนื่องจากตลาดส่งออกหลักยังมีทิศทางชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยังสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1/63 ที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังอ่อนค่า และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ และมีโอกาสที่ค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้มีโอกาสหลุด 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปีหน้า มองค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 62 นี้ มองว่า การชะลอตัวของการส่งออกจากผลของสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 62 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาเหลือที่ 2.5% เนื่องจาก GDP ในไตรมาส 3/62 ออกมาต่ำกว่าคาด โดยเติบโตเพียง 2.4% อีกทั้งเมื่อรวม GDP 3 ไตรมาสรวมกันยังต่ำกว่าประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/62 ยังมีโอกาสจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/62 เล็กน้อยที่ 2.6% โดยมีปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยประครองการบริโภค และมีเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐออกช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้าง

น.ส.ณัฐพร ยังกล่าวถึงทิศทางธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 63 คาดว่าจะเผชิญ 4 โจทย์หินต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งสินเชื่อที่มีข้อจำกัดของการเติบโตตามเศรษฐกิจ โดยมองอัตราการเติบโของสินเชื่อเท่าปีก่อนที่ 3.5% สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให่เกิดรายได้ (NPL) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากปี 62 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3% ค่าธรรมเนียมที่คงขยายตัวในระดับไม่เกิน 1-2% และมีโอกาสได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากนโยบายของทางการ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง หรือการส่งสัญญาณของทางการที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเหลือลูกค้า อันจะกระทบรูปแบบการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝาก จนมีผลกดดันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM)

ขณะเดียวกัน มองว่ามีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ในช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือน มี.ค.63 หลังจากที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/62 ออกมาแล้ว

"หากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาไม่เป็นไปตามที่ ธปท.คาดไว้ ทำให้มองว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระของผู้ประกอบการและประชาชน และมองไปถึงเครื่องมืออื่น ๆ ที่ ธปท.จะนำมาใช้เสริมในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 63" น.ส.ณัฐพรกล่าว

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจอื่น ๆ ยังเผชิญกับโจทย์ยากเช่นเดียวกันในปี 63 โดยเงินบาทมีค่าเฉลี่ยรายปีที่แข็งค่ากว่าในปี 62 ซึ่งนอกจากจะกระทบต่อภาคส่งออกแล้ว จะส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยในเบื้องต้นประมาณว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 30,000 ตำแหน่ง จากปี 62 ที่หายไปใกล้แสนตำแหน่ง

ส่วนภัยแล้งในปี 63 ที่คาดว่าจะมีภาวะแล้งรุนแรงกว่าปี 62 เพราะเริ่มต้นปีด้วยปริมาณน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ที่น้อยกว่าเดิมมาก ซึ่งจะกระทบปริมาณผลผลิต มีผลให้ GDP ภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรมีโอกาสหดตัว ส่วนจะเข้าใกล้ภาวะแล้งเป็นประวัติการณ์ดังเช่นที่เกิดในปี 58-59 นั้นหรือไม่ คงเป็นประเด็นติดตาม ซึ่งไม่เกิน 3-4 เดือนแรกของปี 63 ก็คงมีความชัดเจนขึ้นว่าจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงเข้ามาซ้ำเติมหรือไม่

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดนั้น แม้ว่าผลกระทบต่อเงินเฟ้อในปี 63 จะยังมีจำกัด แต่ก็จะเพิ่มโจทย์ยากให้กับธุรกิจ โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5 บาทจากเดิม จะมีผลเพิ่มต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอีก 0.3% ขณะที่ธุรกิจเกษตร จะเป็นกลุ่มที่เผชิญผลกระทบทั้งค่าเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และค่าแรงพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องเตรียมนโยบายเฉพาะด้านเพื่อดูแลกลุ่มนี้

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังไม่ฟื้นตัว เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยค้างขายสะสมที่ยังมีอยู่อีกราว 200,000 หน่วยนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะสามารถเคลียร์ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

น.ส.เกวลิน กล่าวว่า สำหรับธุรกิจที่มองว่ายังไปได้ คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ที่แม้จะเห็นอัตราการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอลงมาที่ 2-3% จากที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวราว 4% ในปี 62 แต่ก็ยังมีตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สร้างโอกาสทางธุรกิจได้ ทั้งนักท่องเที่ยวจีน อาเซียน และอินเดีย รวมถึงตลาดไทยเที่ยวไทย ซึ่งภาครัฐสามารถส่งเสริมหรือออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนุนเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้ เพราะมีสัดส่วนต่อ GDP รวมถึง 18%