นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์และเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ และสหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ ร่วมประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมเปิดเสรีสินค้าโคนมและโคเนื้อของไทย โดยทุกฝ่ายพร้อมร่วมบูรณาการการทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยกรมฯ จะเน้นสร้างโอกาสทางการตลาด ขณะที่กรมปศุสัตว์ เตรียมจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาโคนม โคเนื้อ และผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำแบบครบวงจร
ในส่วนของโคนม ที่ผ่านมากรมฯ ได้ดำเนินโครงการ "จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA" ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย และศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เอฟทีเอเข้ามาช่วยในการส่งออกและพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตนมของไทยให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2560 รวมถึงนำเกษตรกรและผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาจับคู่ธุรกิจที่จีนและสิงคโปร์ โดยได้รับคำสั่งซื้อนมและผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในปี 2563 กรมฯ มีแผนจัดทัพโคนมไทยไปจีน และประเทศอาเซียนที่ต้องการบริโภคนมคุณภาพดีของไทย โดยที่ประชุมเห็นว่าการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงกลางน้ำ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษามาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์นมและนมแปรรูปของไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์จะรับไม้ต่อเร่งติวเข้มผู้ประกอบการ โรงงานนมและนมแปรรูปของไทย เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ผ่านมาตรฐานส่งออกไปต่างประเทศ เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ไทยมีตลาดแน่นอน ทำให้รองรับน้ำนมดิบของเกษตรกรไทยเสริมจากโครงการนมโรงเรียนได้
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งที่ประชุมว่าจะเร่งเสนอยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์ ปี 2564-2570 ที่จะมีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมเกษตรกร และอุตสาหกรรมโคนมไทยรับมือการแข่งขันเสรี โดยเน้นเรื่องการพัฒนาองค์ความรู้การเลี้ยงโคนม การพัฒนาการผลิตน้ำนมดิบ ฟาร์มโคนมและอุตสาหกรรมโคนมไทยให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานสากล การนำนวัตกรรมมาใช้กับการเลี้ยงวัวและผลิตนม การพัฒนาระบบฐานข้อมูล และการส่งเสริมให้เยาวชนไทยบริโภคนมโคสดทุกวัน ให้คนไทยบริโภคนมมากขึ้น
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับโคเนื้อ ที่ผ่านมาไทยได้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ส่งออกโคมีชีวิต และเนื้อวัวไปจำหน่ายประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งไทยจะต้องเตรียมรับมือกับเนื้อวัวและเครื่องในวัวนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานร่วมกัน ในส่วนกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนด้านการตลาด ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาโคเนื้อ 2561-2565 เน้นการปรับปรุงอุตสาหกรรมโคเนื้อทั้งระบบตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการตลาด การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ อาหารสัตว์ ไปจนถึงมาตรฐานโรงงานฆ่าชำแหละ และแปรรูป ตลอดจนการควบคุมโรคระบาด
นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมเดินหน้าจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเจรจาจัดทำความตกลงเอฟทีเอ ซึ่งปลัดกระทรวงพาณิชย์จะนั่งเป็นประธานคณะทำงาน และจะมีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 20 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทย จีน ฮ่องกง และสมาชิกอาเซียน (ยกเว้น สปป.ลาว และเวียดนาม) ได้ยกเลิกภาษีนำเข้าเนื้อวัวให้ไทยแล้ว ขณะที่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไทยจะต้องยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมผงที่มีไขมันเกินร้อยละ 1.5 เวย์โปรตีน เนย ไขมันเนย เนยแข็ง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม เนื้อวัว และเครื่องในวัว ให้กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 และภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ และ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ไทยต้องยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเนื้อวัว และเครื่องในวัว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าน้ำนมดิบ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม และนมผงขาดมันเนย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568