นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเตรียมกำหนดแผนงานที่จะเดินหน้าต่อไปในปี 2563 โดยระบุว่า ในปีหน้านโยบายประกันรายได้เกษตรกรจะเดินหน้าต่อไป ตามขั้นตอนกระบวนการ เพราะถือว่าเป็นนโยบายสำคัญอันหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ที่แถลงไว้กับรัฐสภา โดยในปี 63 จะมีมาตรการเสริมและมาตรการคู่ขนานสำหรับสินค้าเกษตรแต่ละชนิดควบคู่กันไป เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระดับราคา และเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรบางรายการ และทำให้ราคาในประเทศตกต่ำลง
"ในการประชุมครั้งล่าสุดกับนายกฯ ได้ขอให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ ในเรื่องพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะช่วงนี้ คือข้าวโพด ซึ่งมีรายงานว่ามีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดในปริมาณที่น่าเป็นห่วง จึงขอให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษแล้ว" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว
ส่วนแผนงานเร่งรัดการส่งออกในปี 63 นั้น ได้มีการหารือและมีข้อสรุปร่วมกันว่าในปีหน้า ตนจะนำคณะของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเดินทางไปเปิดตลาดอย่างน้อยใน 16 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย, ญี่ปุ่น, แอฟริกาใต้, ฮ่องกง, จีน, เวียดนาม, ผรั่งเศส, อังกฤษ, ตะวันออกกลาง, รัสเซีย, ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ติมอร์เลสเต, เกาหลี, บังกลาเทศ, มัลดีฟส์ และกัมพูชา
สำหรับการเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) นั้น จะเร่งเดินหน้าเจรจา FTA ในส่วนที่ค้างอยู่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะ FTA ไทย-ตุรกี ซึ่งจะเร่งรัดให้เสร็จสิ้นภายในปีหน้า รวมถึง FTA ไทย-ปากีสถาน และ FTA ไทย-ศรีลังกา ส่วนที่จะเริ่มการเจรจาใหม่ ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU), FTA ไทย-สหราชอาณาจักร (UK), FTA ไทย-ฮ่องกง และการทำ FTA กับกลุ่มสวิตเซอร์แลนด์ ลิกเกนสไตล์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นต้น
"ได้มอบนโยบายให้เริ่มต้น FTA รูปแบบใหม่ ที่จะลงลึกรายมณฑลหรือรายรัฐในประเทศที่เหมาะสมที่จะทำข้อตกลงพิเศษทางด้านการค้าและบริการระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการส่งออกให้สินค้าและบริการในเชิงลึกให้มากขึ้น เช่น อาจมีข้อตกลงพิเศษกับมณฑลบางมณฑลของจีน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการทำการค้าเสรีกับประเทศไทย หรือทำกับอินเดียบางรัฐที่มีความเหมาะสม เป็นต้น" นายจุรินทร์ ระบุ
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ในสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว, ปาล์มน้ำมัน, ยางพารา, มันสำปะหลัง และข้าวโพดว่า สินค้าเกษตรทั้ง 5 ชนิดนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการจ่ายเงินส่วนต่างได้ครบถ้วนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งปัจจุบันสินค้าข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้ทยอยจ่ายเงินส่วนต่างแล้ว ยังเหลือแต่ข้าวโพดที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้
"ถ้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ก็จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. ซึ่งนั่นหมายความว่า สินค้าเกษตรทั้ง 5 ตัวนี้ สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้" นายจุรินทร์ระบุ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของสินค้าข้าวจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม คือ ในการจ่ายเงินส่วนต่างงวดถัดไป จะมีข้าว 4 ชนิดที่จะได้รับเงินส่วนต่างงวดใหม่นี้ (งวดที่5) ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า, ข้าวหอมปทุมฯ, ข้าวหอมมะลิ และข้าวหอมนอกพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ใน 2-3 งวดที่ผ่านมา ปรากฏว่าข้าวหอมมะลิกับข้าวหอมนอกพื้นที่และข้าวเหนียวยังไม่ได้รับเงินส่วนต่าง เนื่องจากราคาสูงกว่ารายได้ที่ประกัน แต่สำหรับงวดถัดไปข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนอกพื้นที่ ข้าวหอมปทุมฯ และข้าวเปลือกเจ้า จะได้รับเงินส่วนต่าง โดยข้าวหอมมะลิ จะได้รับเงินส่วนต่างตันละประมาณ 500 กว่าบาท ส่วนข้าวหอมนอกพื้นที่ตันละ 400 กว่าบาท
ส่วนกรณีของยางพารา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการของการตรวจสวน ซึ่งกระบวนการอย่างค่อนข้างล่าช้า แต่ทั้งนี้ ได้หารือกับ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้ว เพื่อให้ปรับวิธีการตรวจสวนยางให้กระชับขึ้น นั่นก็คือเปลี่ยนมาเป็นวิธีให้เจ้าของสวนเป็นผู้แจ้งข้อมูลว่าปลูกยางชนิดใด และมีพื้นที่กี่ไร่ จากนั้นให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านให้การรับรองว่าเป็นความจริง และส่งข้อมูลให้กับ กยท. จากนั้น กยท.จะส่งข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเงินส่วนต่างได้ทันที
"คาดว่าจากนี้ไป เฉพาะผู้ที่ยังตรวจสวนไม่เสร็จ จะรับเงินส่วนต่างเร็วขึ้น เพราะมีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสวนให้เร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้มีการโอนเงินส่วนต่างในเรื่องของยางพาราไปแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนสวนยางทั้งหมดที่มี และเร่งรัดดำเนินการต่อไปตามลำดับ และสำหรับผู้ถือบัตรสีชมพู สามารถได้รับเงินส่วนต่างด้วยเช่นเดียวกัน" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 11 ธ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอมาตรการเสริมจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยประกอบด้วยเรื่องสำคัญ 3 หมวด 1.การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเรื่องของต้นทุน 2. การช่วยเหลือเรื่องค่าปรับปรุงคุณภาพ และการเก็บเกี่ยว 3.มาตรการชะลอการขาย
"ความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่ 3 เข้ามาด้วย เพราะช่วงนี้ข้าวออกมาก และถ้ามีมาตรการชะลอขาย ก็จะช่วยไม่ให้ข้าวใหม่ออกสู่ตลาดมากเกินไปที่จะส่งผลให้ราคาตก โดยหลังจากที่ส่งสัญญาณเรื่องมาตรการการชะลอขายออกมา ปรากฏว่าทำให้ราคาข้าวกระเตื้องขึ้นในช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา" นายจุรินทร์ระบุ