นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการนำคณะกรรมการฯ เข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือความร่วมมือและนำเสนอประเด็นต่าง ๆ ของภาคเอกชนต่อการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรของประเทศ โดยมีข้อเสนอใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและลดความเหลื่อมล้ำ โดยหารือถึงเรื่องเกษตรแปลงใหญ่ร่วมรัฐและเอกชน ซึ่งเสนอให้มีการขยายผลแนวทางการดำเนินงานที่มีภาคเอกชนร่วมดำเนินการอยู่แล้ว 88 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 156,000 ไร่ และขอให้กรมส่งเสริมการเกษตร คัดเลือกแปลงใหญ่ที่ยังดำเนินการอยู่และมีศักยภาพแต่ยังขาดแผนการตลาด การใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาร่วมดำเนินการ โดยหอการค้าไทย ยินดีจับคู่แปลงใหญ่กับผู้ประกอบการภาคเอกชนให้
นอกจากนั้น ยังได้หารือโครงการ 1 หอการค้า 1 สหกรณ์การเกษตร ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาสหกรณ์สู่ความยั่งยืน โดยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัด จะร่วมกันจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม Micro MBA พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้กับสหกรณ์ต่าง ๆ และขอการสนับสนุนงบประมาณจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมประสานความร่วมมือไปยังสหกรณ์จังหวัด
2. การแก้ปัญหาธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเห็นว่าการแก้ปัญหาวัตถุดิบภาคการประมงที่ไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกนั้น ควรมีการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำ เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าและส่งออก จากประเทศที่มีปริมาณผลผลิตจำนวนมาก โดยหากมีการตรวจพบโรคระบาดที่ด่านนำเข้า ก็สามารถส่งกลับคืนประเทศต้นทางได้
นอกจากนั้น ควรจัดทำความร่วมมือด้านมาตรฐานสุขอนามัยระหว่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing กับประเทศต้นทางที่นำเข้าวัตถุดิบจากการเพาะเลี้ยงและการจับสัตว์น้ำจากทะเล รวมทั้งเร่งรัดการวิจัยลูกพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจที่แข็งแรงทนทานต่อโรคให้มีปริมาณเพียงพอต่อการส่งออกและมีมาตรฐานสากล
สำหรับประเด็นการตรวจพบยาปฏิชีวนะต้องห้ามในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เสนอให้เร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่ และให้ความรู้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการใช้ยา และหยุดใช้ยาปฏิชีวนะต้องห้าม รวมทั้งควรมีการสุ่มตรวจสอบสารตกค้างในอาหาร วิตามินบำรุง และให้มีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาดกับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เมื่อพบยาปฏิชีวนะที่ไม่อนุญาตให้ใช้
นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงทุกรายขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ในการออกเอกสารรับรองการส่งออก (Health Certificate) เนื่องจากผู้ประกอบการต่างชาติบางราย มักใช้ช่องว่างจากการที่ไม่ได้ลงทุนหรือจัดทำระบบมาตรฐาน แล้วจ้างโรงงานขนาดเล็กของไทยส่งออกแทน
3. กลุ่มพืชผัก ผลไม้ และสมุนไพรแปรรูป กรมส่งเสริมสหกรณ์จะร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผลักดันการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าผลไม้แบบรับรองกลุ่มด้วยมาตรฐานภาคเอกชน (ThaiGAP) ให้สหกรณ์การเกษตร เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีน และเสนอให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้การรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ด้วย
นอกจากนั้น ยังเสนอให้มีการจัดระเบียบ "ล้งจีน" ให้ถูกกฎหมาย โดยการออกวีซ่าพิเศษให้กับล้งจีน เพื่อให้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเกษตรเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย และขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนล้งจีนที่รับซื้อผลไม้ในไทย และกำหนดระเบียบปฏิบัติ อาทิ ให้ล้งจีนร่วมพัฒนาคุณภาพและปฏิบัติตามมาตรฐานผลไม้ไทย รวมทั้งแจ้งข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้ของประเทศต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและลดปัญหาการถูกปฏิเสธการนำเข้า และส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีได้อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ข้อเสนอของหอการค้าฯ มิได้เป็นการกีดกันทางการค้า แต่เป็นการจัดระเบียบให้เกิดความเท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการไทย
4. ยกระดับมาตรฐานโคเนื้อไทย โดยเร่งรัดจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ด้านระบบป้องกันโรคและการเลี้ยงที่เหมาะสม ตามมาตรฐาน GFM (Good Farming Management) ของกรมปศุสัตว์ และขอให้โรงเชือดของภาครัฐและภาคเอกชน ปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practices) ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยขอให้กรมปศุสัตว์สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อแนะนำแนวปฏิบัติตามมาตรฐาน
5. การประสานความร่วมมือระหว่างกัน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แลสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นโยบายแรกของการทำงานในปัจจุบัน คือ เรื่องการตลาดนำการผลิต เน้นคุณภาพ และเป็นเกษตรปลอดภัย เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกร ทั้งนี้ จะมุ่งไปที่การค้าขายออนไลน์ โดยมุ่งเน้นที่การคัดสรรคุณภาพ นอกจากนั้น ยังเน้นการเข้าถึงกลุ่ม Young Smart Farmer ซึ่งเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี โดยจะเริ่มประมาณต้นปีหน้า ทั้งนี้ แนวทางที่หอการค้าไทยนำเสนอ ถือว่าสอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงฯ
ส่วนในเรื่อง IUU Fishing ที่ผ่านมา ถือว่ารัฐบาลใช้ยาแรงเพื่อแก้ปัญหาใบเหลือง ซึ่งก็สามารถดำเนินการผ่านไปได้ จากนี้จะต้องช่วยกันเข้ามาช่วยดูแล โดยเฉพาะเรื่องการลดต้นทุน เพื่อสู้กับตลาดโลกได้ ทั้งนี้ จะช่วยกำชับกับอธิบดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการร่วมกันต่อไป
"ในช่วงที่ผ่านมา ได้เดินทางไปเจรจาหารือกับประเทศจีน โดยจีนก็จะมีการผ่อนปรนกฎระเบียบหลาย ๆ อย่าง เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคการเกษตรของไทยเป็นอย่างมาก" รมว.เกษตรฯ กล่าว