อัตราค่าจ้างแรงงานของญี่ปุ่นในเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 19 เดือน ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความวิตกกังวลต่อการเผชิญภาวะราคาน้ำมันแพง รวมถึงราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราค่าจ้างรายเดือน ซึ่งรวมถึงค่าล่วงเวลาในเดือนม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อนหน้านี้ ซึ่งนับเป็นอัตราการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่เดือนมิ.ย.2549 ขณะที่อัตราการจ่ายเงินโบนัสพุ่งขึ้น 12.1%
นายโตชิฮิโกะ ฟูกูอิ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ตัวเลขผลกำไรภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นปัจจัยหนุนให้รายได้ภาคครัวเรือนและการใช้จ่ายผู้บริโภคอยู่ในระดับแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่อัตราค่าแรงในปี 2550 ปรับตัวลดลงก็ตาม ซึ่งความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนในเดือนม.ค.ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ขณะที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2541
"แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ประจำอาจเริ่มส่งสัญญาณที่ดีต่อตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค" เคนอิจิ คาวาซากิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเลห์มัน บราเธอร์ส เจแปน อิงค์ กล่าว "ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้จ่ายผู้บริโภคไม่ได้อยู่ที่ความเชื่อมั่นแต่อยู่ที่อัตราค่าจ้างแรงงาน"
ทั้งนี้ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ยอดการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเดือนม.ค.ปรับต้วเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่อัตราว่างงานย่ำฐานทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.8% ทั้งนี้ ราคาผู้บริโภคซึ่งไม่นับรวมอาหารสดไต่ระดับขึ้น 0.8% จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทหลายแห่งมีต้นทุนน้ำมัน ข้าวสาลี และถั่วเหลืองที่เพิ่มสูงขึ้น
ด้านจูเลียน เจซซอป หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ ลิมิเต็ดกล่าวว่า "อัตราว่างงานของญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อัตราจ้างงานเพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจเหล่านี้บ่งชี้ว่าการใช้จ่ายผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น"
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--