(เพิ่มเติม1) พาณิชย์ เผย ก.พ.51 CPI ขยายตัว 5.4% ส่วน Core CPI ขยายตัว 1.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 3, 2008 12:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางไพเราะ สุดสว่าง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI)ในเดือน ก.พ.51 อยู่ที่ 120.7 เพิ่มขึ้น 5.4% จากเดือน ก.พ.50 และเพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือน ม.ค.51 โดยมีสาเหตุจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหาร
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน อยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือน ก.พ.50 และเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.51
นางไพเราะ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน ก.พ.51 เมื่อเทียบกับ ม.ค.51 สูงขึ้น 0.7% เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยสาเหตุหลักมากจากการสูงขึ้นของราคาอาหารเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะเนื้อสุกร ขณะที่ดัชนีหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือน ม.ค.51 แม้จะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 2 ครั้ง แต่หากเทียบกับเดือนที่ผ่านมาแล้วถือว่าลดลง
ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 129.9 เพิ่มขึ้น 7.9% จาก ก.พ.50 และเพิ่มขึ้น 2.0% เมื่อเทียบกับ ม.ค.51 ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารอยู่ที่ 115.4 เพิ่มขึ้น 4.0% จาก ก.พ.50 และไม่เปลี่ยนแปลงจาก ม.ค.51
รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้ม CPI ในเดือน มี.ค.51 น่าจะปรับตัวลดลง เพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นทั้งเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้สด แต่สินค้าดังกล่าวได้ทยอยปรับลดลงในช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ขอรอดูสถานการณ์ไปจนถึงกลางปีนี้ก่อนที่จะพิจารณาทบทวนปรับเป้าเงินเฟ้อ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 3.0-3.5% แม้ว่า CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกปี 51 จะขยายตัวไปถึง 4.8%
"แม้ในเดือน ม.ค.และ ก.พ. จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เราขอดูตัวเลขสัก 6 เดือนก่อน เพื่อให้มั่นใจในสถานการณ์และมาตรการต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการไป ขอรอดูอย่างน้อย 6 เดือนก่อนปรับเป้า ตอนนี้ยังยืนยันตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีไม่เกิน 3.5%" รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ
นางไพเราะ กล่าวว่า จากมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ช่วยลดและตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ ก็จะช่วยชะลอภาวะราคาสินค้าซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่ปรับตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งการที่ร้านขายอาหารสำเร็จรูปตลอดจน Fast Food ได้ให้ความร่วมมือด้วยการปรับลดราคาอาหารลง ก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาราคาอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพงได้
ขณะที่สินค้าประเภทนมผงนั้น ผู้ผลิตหลายรายแจ้งมาที่กรมการค้าภายในแล้วว่าจะเริ่มปรับลดราคาลงตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป โดยอัตราการปรับลดราคาอยู่ที่ 5-13% ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละผลิตภัณฑ์และแต่ละบริษัท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ