บอร์ด รฟม.ให้ลดค่าโดยสารถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็น 14-20 บาทจาก 14-42 บาท,เตรียมออกตั๋วเดือนสายสีน้ำเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 11, 2019 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.วันนี้เห็นชอบการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วง เตาปูน-คลองบางไผ่ ค่าโดยสาร 14-20 บาท ตลอดทั้งวัน (05.30 น.-24.00 น.) จากค่าโดยสารปกติ 14-42 บาท ซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิม ที่บอร์ดเคยอนุมัติให้ลดราคาเฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ช่วงเวลา 09.00- 17.00 น.

โดยจะกำหนดเป็นมาตรการ ระยะ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 62-31 มี.ค.63 โดยมีการประเมินผลเก็บตัวเลขทุกเดือน ซึ่งเป็นมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนตามนโยบาย รมว.คมนาคม ที่ให้ลดราคาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเห็นว่าช่วงเร่งด่วนเช้า,เย็น มีผู้โดยสารจำนวนมาก ควรได้รับการลดค่าครองชีพด้วย

ทั้งนี้ การปรับลดค่าโดยสารครั้งนี้คาดว่าจะทำให้รถไฟฟ้าสายสีม่วงจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 17.8% จากปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 6 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่คาดว่าจะสูญรายได้ประมาณ 15 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 45 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน โดย รฟม.จะนำส่วนแบ่งรายได้ค่าสัมปทาน และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งมีประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี มาอุดหนุน

นายสราวุธ กล่าวว่า รฟม.จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมภายในวันที่ 13 ธ.ค.เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาในวันที่ 17 ธ.ค.เนื่องจากตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 มาตรา 27 กำหนดให้ต้องเสนอ ครม.อนุมัติ กรณีมีผลที่ทำให้รัฐมีรายได้ลดลง

ส่วนผู้โดยสารที่เดินทางรถไฟฟ้า MRT 2 สาย คือสีน้ำเงินและสีม่วงต่อกันนั้น มาตรการเดิมจะมีตั๋วเดือน 4 ประเภท ซึ่งค่าโดยสารต่ำสุดที่ 47 บาทต่อเที่ยวสำหรับตั๋วแบบ 50 เที่ยว (ราคาจำหน่าย 2,350 บาท) นั้น หากครม.เห็นชอบลดค่าโดยสารสีม่วงเหลือ 20 บาท จะทำให้การใช้รถไฟฟ้าเชื่อม 2 สายเหลือค่าโดยสารสูงสุด 48 บาทเท่านั้น โดยจ่ายรถไฟฟ้าสายสีม่วง 20 บาท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจ่ายสูงสุด 28 บาท (คิดจากราคาสูงสุด 42 บาทหักค่าแรกเข้า 14 บาท) ซึ่งจะจูงใจมากกว่า ตั๋วเดือนที่ต้องจ่ายเป็นเงินมากกว่าในการซื้อต่อครั้ง

การลดค่าโดยสารดังกล่าวสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้วิเคราะห์ว่าจะทำให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งจะมีผลดีทางอ้อม 5 ด้าน คิดเป็นมูลค่าถึง 38.7 ล้านบาทต่อเดือน ได้แก่ 1.ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ 12.57 ล้านบาท 2.ประหยัดเวลาเดินทาง 14.6 ล้านบาท 3. ลดมูลค่าการสูญเสียจากอุบัติเหตุ 570,000 บาท 4. ค่าความสุขที่ประชาชนได้รับ 10.2 ล้านบาท 5. ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม 630,000 บาท

อย่างไรก็ตาม รฟม.จะดำเนินการส่งเสริมและจูงใจประชาชนใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มเช่น ร่วมกับ ขสมก.ในการจัดรถ Shuttel Bus เชื่อมจากหมู่บ้านหรือชุมชนกับสถานี

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯรฟม. กล่าวว่า การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในรูปแบบตั๋วเที่ยวนั้น รฟม.ได้หารือกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้รับสัมปทานเบื้องต้นแล้ว แต่เนื่องจากสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายยังอยู่ระหว่าการทยอยเปิดเดินรถ ซึ่งล่าสุด เปิดทดลองช่วงเตาปูน-สิรินธร และสิ้นเดือน ธ.ค.นี้จะขยายไปสิรินธร-ท่าพระ ทำให้จำนวนผู้โดยสารยังไม่นิ่ง จึงต้องรอหลังเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการปลายเดือน มี.ค.63 ก่อน จึงจะกำหนดมาตรการค่าโดยสารตั๋วเที่ยวได้

นายสราวุธ กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ รฟม.ยังได้พิจารณารายงานผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แต่มีข้อสังเกตเรื่องประมาณการจำนวนผู้โดยสารที่อาจจะสูงเกินไป โดยให้ประเมินพฤติกรรมการเดินทางอย่างรอบด้าน และเปรียบเทียบการเดินทางด้วยขนส่งอื่นๆ เช่น Airport Bus ผู้ใช้ที่เป็นนักท่องเที่ยว รวมถึงการเวนคืนที่ดินช่วงโค้งแยกสนามบินที่ยังมีข้อสังเกตว่าอาจเป็นพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ เพื่อความชัดเจนและไม่เป็นปัญหาในอนาคต โดยให้อนุกรรมการฯ (Executive Committee) ไปพิจารณาตัวเลข และข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการ รฟม.ให้ครบทุกมิติและนำเสนอในเดือนม.ค.63 เพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะกรรมการ PPP และ ครม.ในช่วงต้นปี 63

สำหรับค่างานโยธาเพิ่มจาก 23,499 ล้านบาท เป็นกว่า 27,000 ล้านบาท งานระบบอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ที่ประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท โดยคาดว่าปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ