ครม.รับทราบแผนงาน-กรอบเวลาตราพ.ร.ฎ.ตาม พ.ร.บ.คลื่นความถี่ฉบับใหม่ คาดแล้วเสร็จภายใน เม.ย.64

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 11, 2019 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแผนการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกา ตามนัยแห่งมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 เม.ย.62 จากสาเหตุในการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการให้บริการที่เหมาะสมในปัจจุบัน

โดยในมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2562 ในวรรค 1 ระบุว่า ให้ใช้บทบัญญัติเดิมตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติใหม่ โดยเมื่อ กสทช.มีความพร้อมแล้ว ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อนำบทบัญญัติใหม่มาใช้บังคับ นอกจากนี้ ในมาตรา 30 วรรค 4 ระบุว่า ให้ กสทช.จัดทำแผนการดำเนินการและกำหนดกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกาขั้นต้นให้ชัดเจน และให้รายงานผลการเตรียมความพร้อมให้ ครม.และรัฐสภาทราบ อย่างน้อยทุก 6 เดือน และเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบด้วย

ในครั้งนี้ กสทช.จึงได้เสนอแผนการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาในการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เพื่อให้บทบัญญัติใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถร่างพระราชกฤษฎีกาได้แล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.64

สาระสำคัญของประเด็นต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ประกอบด้วย

1. แก้ไขข้อจำกัดในการใช้คลื่นความถี่ จากเดิมที่ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่จะถูกจำกัดให้สามารถประกอบกิจการด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ก็จะเปลี่ยนใหม่เป็นให้ผู้รับใบอนุญาตฯ สามารถประกอบกิจการได้ โดย กสทช.จะเป็นผู้กำกับดูแลว่าคลื่นความถี่ใด สามารถประกอบกิจการใดได้บ้าง

2. ยกเลิกการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโดยอัตโนมัติ โดยกำหนดให้เมื่อได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการอีกครั้งหนึ่งว่าจะประกอบกิจการใดบ้างสำหรับคลื่นความถี่นั้น และจะต้องประกอบกิจการภายในระยะเวลาที่กำหนด

3. กำหนดให้มีการโอนใบอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่ได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข อัตราค่าธรรมเนียมในการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ กสทช.ประกาศกำหนด ซึ่งจากเดิมที่ผู้ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถโอนใบอนุญาตได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการให้บริการในปัจจุบัน

"กสทช.รายงานให้ทราบว่า การดำเนินการตาม 3 ประเด็นข้างต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ธ.ค.63 และสามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้แล้วเสร็จใน เม.ย.64" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ