นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทไทยในปี 63 จะยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า มีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 29.25-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปี 62 ที่ธนาคารคาดว่าอยู่ที่ 30.40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งค่าเงินบาทในปีหน้าจะเป็นลักษณะแข็งค่าใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค แต่เป็นการแข็งค่าที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปี 63 ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น 1-2 ครั้ง ในปีหน้า จากปีนี้ที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยไป 3 ครั้ง ทำให้ค่าเงินสหรัฐฯอ่อนค่าลง และทำให้ค่าเงินสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้น
ขณะเดียวกันจะต้องดูว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะเกินดุลลดลงหรือไม่ เนื่องจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาค่อนข้างมากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันกว่า 7% เป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง จากการนำเข้าของไทยที่หายไป เพราะผู้ประกอบการไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบต่อการค้าขายและการส่งออก ทำให้ไม่มีการนำเข้าเพื่อสต็อกสินค้า และไม่มีการสั่งสินค้าทุนเข้ามาลงทุน ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังสูง ส่งผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่า
นอกจากนี้ยังมีความระมัดระวังสัญญาณการดูแลค่าเงินบาทเพิ่มเติมจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ส่งสัญญาณว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน และเงินบาทกำลังจะเปลี่ยนทิศ ประกอบกับการจับตาการนำเข้าและส่งออกทองคำของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทไทย ซึ่งมองว่าการที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการขายทองคำออก โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการส่งออกทองคำสัดส่วน 7-8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทุกประเภทในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น
สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามเป็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่คาดว่าจะยืดเยื้อถึงปีหน้า และการเมืองในสหรัฐที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. 63 รวมทั้งรอยต่อการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ สำหรับวาระปี 63-68 ซึ่งจะมีผลต่อการทำนโยบายการเงินของไทยด้วย
ด้านอัตราดอกเบี้ย คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.25% ตลอดปี 63 แต่หากจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่ามีโอกาสลดได้ 1 ครั้งเท่านั้น และประสิทธิผลของการลดดอกเบี้ยจะค่อนข้างมีจำกัด ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมองว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลเข้าไทยจากปีนี้ที่เป็นการไหลออกสุทธิ และแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 2.4% และขยายตัว 2.5% ในปีหน้า และมองว่าพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 น่าจะเริ่มใช้ในเดือนก.พ.63 จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการลงทุนภาครัฐ