CIMBT มองศก.ไทยปีชวดมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงควบคู่กัน คาด GDP โตได้ 2.7% จาก 2.4% ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 12, 2019 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 โดยระบุว่า ในทางเศรษฐกิจขอพยากรณ์ว่าปีหน้าจะมีหนู 2 ตัว คือมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ขอใช้คำว่า "ชวด" ดังอักษรตัว ช-ว-ด ในการพยากรณ์นี้

ด้านปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ ช.เชิญชวนย้ายฐาน ว.วาดแผนการคลัง และ ด.ดันท่องเที่ยวหนุนไทย โดยในส่วนแรก ช.เชิญชวนย้ายฐาน เปรียบเหมือนการเร่งผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาสู่ไทย โดยเฉพาะในเขต EEC เพื่อเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนได้ ซึ่งเมื่อมีการเร่งการย้ายฐานเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและจะสร้างรายได้นอกภาคเกษตรให้ครัวเรือน อีกทั้งจะสนับสนุนให้การส่งออกเร่งตัวขึ้นได้

ว.วาดแผนการคลัง เป็นสัญญาณบวกด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากที่งบประมาณประจำปี 2563 ผ่านรัฐสภาในช่วงปลายเดือนมกราคม คาดหวังว่า นอกจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค และการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแล้ว รัฐบาลอาจมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนหรือการลดภาษี ซึ่งจะเพิ่มกำลังซื้อให้คนชั้นกลางมากขึ้น อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ตลอดทั้งปี แต่อาจใช้มาตรการผ่อนคลายอื่นเพิ่มเติมหรือผ่อนปรนเกณฑ์สินเชื่อ หรือแม้แต่ลดดอกเบี้ยลงอีก เพื่อหวังเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจหากมีความจำเป็น

ด.ดันท่องเที่ยวหนุนไทย สะท้อนเรื่องการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยบวกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหลังจากที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น นับจากไตรมาสที่ 3 เป็นต้นมา นอกจากนี้ พลังจากการท่องเที่ยวยังช่วยส่งผ่านถึงการบริโภคสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร อาหารและเครื่องดื่มในช่วงที่กำลังซื้อคนในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ส่วนในด้านความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจทำให้ขยายตัวต่ำกว่าคาดนั้น ขอให้ระวัง 3 ความเสี่ยง ประกอบด้วย ช.ช้ำบ้านล้นตลาด ว.วุ่นค่าบาทผันผวน และ ด.ดวลเดือดจีน-มะกัน โดยความเสี่ยงแรก ช.ช้ำบ้านล้นตลาด คือ ทางด้านอุปทานส่วนเกินของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมาตรการคุมเข้มจาก ธปท.ในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ซึ่งอาจกระทบภาพรวมการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี ปัญหาอุปทานล้นตลาดนี้คาดว่าจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่นอกแนวรถไฟฟ้า หรือในกลุ่มที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอของคนรายได้ระดับกลาง-ล่าง ในส่วนคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองที่ราคาสูงอาจได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่อาจใช้เวลาในการขายนานกว่าในอดีตจากภาวะเศรษฐกิจที่โตช้า และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง

ความเสี่ยงที่สอง ว.วุ่นค่าบาทผันผวน คือ ภาวะที่เงินบาทแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินประเทศคู่ค้าจนกระทบผู้ส่งออกและผู้ลงทุนในประเทศ ซึ่งเราคาดว่าในปี 2563 นี้มีความเป็นไปได้ที่บาทยังคงผันผวนในทิศทางแข็งค่า จากปัจจัยสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องและจากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้รายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำได้ ส่วนการท่องเที่ยวนั้น แม้อาจกระทบการท่องเที่ยวบ้างจากค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะสูงขึ้นตามเงินบาทที่แข็งค่า แต่เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเติบโตได้ตามความต้องการเดินทางออกนอกประเทศโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวจีน

ความเสี่ยงที่สาม ด. ดวลเดือดจีน-มะกัน คือปัญหาสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 นี้เราเชื่อว่าสงครามการค้าจะไม่ทวีความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนปรับตัวได้ ไม่ว่าภาษีนำเข้าจะอยู่ที่ระดับใดก็ตาม เพียงขอให้มีความชัดเจน อย่างไรก็ดี หากสงครามการค้าระอุขึ้นอีก จากภาษีที่สูงขึ้นหรือจากมีประเทศอื่นอีกที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐ หรือหากสงครามการค้าลามไปสู่สงครามค่าเงินหรือสงครามเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลกคงจะชะลอลงอีก ซึ่งจะกระทบการส่งออกไทยและอุปสงค์ในประเทศได้

"ด้วยทั้งภาวะโอกาส และความเสี่ยงในปีชวดนี้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจาก 2.4% ในปี 2562" นายอมรเทพระบุ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2563 นั้น นายอมรเทพ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% ตลอดทั้งปี 2563 ซึ่ง ธปท. อาจติดตามการส่งผ่านของมาตรการลดดอกเบี้ยสู่ตลาดการเงินก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ยอีกครั้งในอนาคต นอกจากนี้ สภาพคล่องในระบบที่สูงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัวช้า โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภคก็ชะลอลง จากทั้งมาตรการคุมเข้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และจากความกังวลของธนาคารพาณิชย์ต่อหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ตลาดการเงินไทยยังไม่ได้ตกอยู่ในภาวะสภาพคล่องตึงตัวจนต้องลดดอกเบี้ยเพิ่ม ในทางตรงข้าม เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายด้านเสถียรภาพจากสภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงโดยอาจไม่ได้ประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ

"เราเห็นว่า ธปท. น่าจะเลือกใช้การสนับสนุนให้เงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้บาทอ่อนค่า หรืออาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในอนาคต" นายอมรเทพกล่าว

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้น คาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 29.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปี 2563 โดยเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง จากการที่ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงต่อเนื่อง การนำเข้าอาจยังไม่ฟื้นตัวจากคลังสินค้าที่อยู่ในระดับสูงและเอกชนกำลังระบายสต็อกเก่าก่อนสั่งซื้อวัตถุดิบใหม่ อีกทั้งราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวยังมีทิศทางเติบโตได้ดีจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาไทยมากขึ้น ซึ่งรายได้เข้าประเทศมากกว่ารายจ่ายออกนี้ยังสนับสนุนให้บาทแข็งค่า และคาดว่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI น่าจะเร่งตัวขึ้นตามยอดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งจะยิ่งให้เงินไหลเข้ามาต่อเนื่อง

นายอมรเทพ ยังกล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4 ของปี 2562 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยได้โตช้าลง แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกบางอย่างที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอนาคต ประการแรก เราสามารถคาดหวังว่าการส่งออกสุทธิ (ส่งออกหักนำเข้า) จะเติบโตได้ดี การส่งออกน่าจะลดลงเล็กน้อยตามภาวะตลาดโลก แต่การนำเข้าน่าจะยังหดตัวพอสมควรตามการซื้อเครื่องจักรที่ชะลอ ราคาน้ำมันที่ลดลง และสต็อกสินค้าคงคลังที่ยังสูง ซึ่งจะมีผลให้ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นล้วนมีผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย

ประการที่สอง การลงทุนกำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือในการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ public-private partnership (PPP) นอกจากนี้ โครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC น่าจะส่งสัญญาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ประการที่สาม การบริโภคภาคเอกชนในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวยังเติบโตได้ดี เช่น โรงแรมและร้านอาหาร และเครื่องดื่มประเภทที่ไม่ใช่แอลกอฮอลล์ ขณะที่สินค้าบางกลุ่มที่เกี่ยวกับคนรายได้น้อยยังอ่อนแอ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หรือแม้แต่รถยนต์ที่หดตัวตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อ่อนแอลง

ประการที่สี่ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่องบประมาณประจำปีผ่านรัฐสภาในช่วงเดือนมกราคม 2563


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ