นายสมศักดิ์ ปณิตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย คาดว่าในปี 63 มูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดโลกจะพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและการจัดการกับปัญหาโรคระบาดได้ดีขึ้น หลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบหลักจากเงินบาทแข็งค่ากดดันให้การส่งออกลดลง
ในปี 62 คาดว่ามูลค่าการส่งออกกุ้งไทยจะอยู่ที่ราว 5 หมื่นล้านบาท ลดลง 11% จากปีก่อน และมีปริมาณส่งออก 1.6 แสนตัน ลดลง 5% สาเหตุหลักมาจากเงินบาทแข็งค่า 10% มาที่ 30.23 บาท/ดอลลาร์ (ณ เดือน ต.ค.62) จากสิ้นปี 61 อยู่ที่ 32.05 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ไทยแข่งขันกับประเทศอื่นที่ค่าเงินอ่อนค่าได้ลำบาก โดยเฉพาะเงินรูปีของอินเดียอ่อนค่า 11% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า 2% และเงินรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่า 4%
ขณะที่ผลผลิตกุ้งไทยในปี 62 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.9 แสนตันเท่ากับปีก่อน แบ่งเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง 34% จากภาคตะวันออก 30% จากภาคใต้ตอนบน 25% และภาคกลาง 12% เพราะเผชิญกับโรคต่างๆ และราคากุ้งไม่จูงใจ ขณะที่ประเทศคู่แข่งกลับมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย ประเทศแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้
อนึ่ง งวด 10 เดือนแรกของปี 62 (ม.ค.-ต.ค.62) กุ้งไทยมีมูลค่าส่งออก 4 หมื่นล้านบาท ปริมาณการส่งออก 1.35 แสนตัน ลดลง 11.77% และ ลดลง 5.51% ตามลำดับ โดยแทบทุกตลาดปรับตัวลดลง ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อียู และออสเตรเลีย ยกเว้นจีนที่มีมูลค่าและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 36.12% และ 55.14% ตามลำดับ
ส่วนในปี 63 ประเมินมูลค่าและปริมาณการส่งออกกุ้งไทยจะเพิ่มขึ้น 20% มาที่ 6 หมื่นล้านบาท และ 1.9 แสนตัน ตามลำดับ และผลผลิตกุ้งเลี้ยงคาดจะเพิ่มมากกว่า 20% มาเป็น 3.5-4 แสนตัน จากปีนี้คาดว่าผลผลิตอยู่ที่ราว 2.9 แสนตัน โดยผลผลิตกุ้งเลี้ยงเพิ่มขึ้นหลังจากที่เกษตรกรสามารถจัดการปัญหาโรคต่างๆ ในกุ้งได้ดี นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตกุ้งขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหลายประเทศเลี้ยงไม่ได้ โดยปลอดจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง มีมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรม/จรรยาบรรณทางการค้า
นอกจากนั้น ยังคาดหวังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แก้ไขปัญหาเงินบาทที่แข็งค่ามากให้กลับมาอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน รวมทั้งคาดว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะบรรลุข้อตกลงกันได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สมาคมยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการส่งออกกุ้งไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะมาตรการที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้กีดกันทางการค้ากับสินค้ากุ้งของไทย ได้แก่ กรณีสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับกุ้งไทยด้วยการจัดเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 0.81% รวมทั้งมาตรการกีดกันการค้ากุ้งดิบของออสเตรเลียและเกาหลีใต้
ในด้านของสหภาพยุโรป (EU) สมาคมฯ ขอให้ภาครัฐจัดคณะไปดำเนินการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับ EU อีกครั้ง หลังจากที่หยุดการเจรจาไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันไทยต้องเสียภาษีนำเข้ากลุ่มสินค้ากุ้งดิบที่อัตรา 12% และกุ้งสุกที่ 20% ขณะที่ประเทศอื่นนั้น การทำ FTA ระหว่างเวียดนามกับ EU กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 63 ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษี รวมทั้งการทำ FTA ระหว่างเอกวาดอร์กับสหภาพยุโรป ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 60
นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐเจรจากับตลาดคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อเปิดตลาดใหม่ และขยายโอกาสให้ผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนไดัมากขึ้นเพื่อการเสริมสภาพคล่อง
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมการเลี้ยงกุ้งของไทย เกษตรกรยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคตัวแดงดวงขาว อาการขี้ขาว ที่ยังคงสร้างความเสียหายกระจายในพื้นที่เสี่ยงหลักๆ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถสร้างผลการเลี้ยงที่ดีได้ มีต้นทุนแฝงจากความเสียหาย และกุ้งที่โตได้ไม่เต็มศักยภาพ แต่ในปีนี้หลายฟาร์มปรับลดความหนาแน่นในการเลี้ยงลงมาประมาณ 20-30% เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค และมั่นใจว่าปีหน้าปัญหาดังกล่าวจะดีขึ้นด้วยเกษตรกรผู้เลี้ยงมีความรู้ความเข้าใจปัญหา มีการปรับตัว และปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง