นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ เตรียมจะหารือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อพิจารณาเพิ่มแนวทางการลงทุนของกองทุนประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในฐานะที่กระทรวงการคลัง มีผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็อาจจะนำโมเดลของ กบข.มาปรับใช้ในการบริหารการลงทุนของกองทุนประกันสังคม
"แนวทางกองทุนประกันสังคม ไม่ใช่การนำเงินเข้าไปเติมเพื่อเพิ่มขนาดกองทุนเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนด้วย ผมจะไปหารือกับประกันสังคมในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะที่กระทรวงการคลัง มีผู้เชี่ยวชาญจาก กบข. ก็อาจนำโมเดลของ กบข.มาปรับใช้บริหารการลงทุนประกันสังคม" นายลวรณกล่าว
พร้อมระบุว่า จะต้องพิจารณาถึงขนาดกองทุนที่มีความใหญ่ และแนวทางการลงทุนว่าสามารถสร้างผลตอบแทนเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในระยะยาวหรือไม่ ซึ่งโจทย์ดังกล่าวต้องไปหาคำตอบ และเห็นว่าการลงทุนในประกันสังคมมีความปลอดภัย และความเสี่ยงต่ำ ซึ่งในโลกการลงทุนสามารถหาผลตอบแทนได้หลากหลายรูปแบบควบคู่ไปกับความเสี่ยงต่ำ
อนึ่ง การลงทุนของกองทุนประกันสังคมนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการประกันสังคม และตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อวางพื้นฐาน สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า ผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 30,620 ล้านบาท จากเงินลงทุนจำนวน 2.02 ล้านล้านบาท โดยเงินลงทุน แบ่งเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูง 78.5% และหลักทรัพย์เสี่ยง 21.5% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไว้ไม่เกิน 40%