พาณิชย์ เดินหน้าทำยอดส่งออก หลังสหรัฐ-จีนบรรลุข้อตกลงเฟสแรก, อังกฤษประกาศผลเลือกตั้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2019 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และผลเลือกตั้งของสหราชอาณาจักรว่า ขณะนี้สหรัฐฯ และจีนยืนยันบรรลุข้อตกลงการค้าระยะแรก (Phase-1) เรียบร้อยแล้ว ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมคว้าชัยชนะการเลือกตั้งนายกรัฐมตรีคนใหม่ ด้วยคะแนนเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร (UK)

ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ-จีน จะยังไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงระยะแรกอย่างเป็นทางการ ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทบทวนทางกฎหมาย และขัดเกลาถ้อยคำก่อนเข้าสู่กระบวนการลงนามต่อไป การยืนยันจากทั้งสองประเทศจะช่วยให้บรรยากาศทางการค้าดีขึ้น และคลายความกังวลว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามไปถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวน โดยปรากฎรายละเอียดข้อตกลงบางส่วน ได้แก่ สหรัฐฯ เสนอว่า 1. ยกเลิกการขึ้นภาษี 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวิดีโอเกมส์ โทรทัศน์ วิทยุ จอคอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นผู้บริโภคอื่นๆ เช่น นาฬิกา ของเล่น รองเท้าและเครื่องแต่งกาย (กำหนดเดิมวันที่ 15 ธค. 62) 2. ปรับลดภาษีสินค้า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเหลืออัตรา 7.5% (จากเดิม 15% และบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 62) ทั้งนี้ จะยังคงภาษี 25% สำหรับสินค้ามูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่จีนตกลงในประเด็น 1. การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเวลา 2 ปี โดยจีนเน้นย้ำว่าจะต้องสอดคล้องกับความต้องการตลาดและเป็นไปตามข้อตกลงภายใต้ WTO 2. ลดอุปสรรคทางการค้าในภาคการบริการ อาทิ การเงินสาขาการธนาคาร การประกันภัย และหลักทรัพย์ 3. แก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี และละเว้นการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อการครอบครองเทคโนโลยีต่างชาติ 4. ละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าเจรจาข้อตกลงระยะสอง (Phase-2 Deal) ทันที

นอกจากนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เปิดเผยว่า เนื้อหาของข้อตกลง Phase-1 Deal ประกอบด้วยประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างและการขยายการค้าระหว่างกัน ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา, การถ่ายทอดเทคโนโลยี, สินค้าเกษตร, การบริการทางการเงิน, อัตราแลกเปลี่ยน, การขยายการค้า (ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร สินค้าเกษตรและอาหารทะเล พลังงาน และภาคบริการ) และกลไกการระงับข้อพิพาท (Dispute Resolution)

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จของการเจรจา Phase-1 Deal นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องที่สหรัฐฯ ผลักดันให้จีนแก้ไข โดยประเมินว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อธุรกิจและผู้บริโภค โดยข้อตกลงระยะแรก จะช่วยลดภาระภาษีนำเข้าแก่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ และช่วยลดแรงกดดันด้านราคาต่อผู้บริโภค รวมถึงการบรรเทาภาวะการส่งออกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน โดยคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนขยายตัวดีขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้มากขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงระยะแรกไม่ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ดังนั้นไทยจึงควรเร่งใช้โอกาสในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ต่อไป อย่างไรก็ดี ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 62 พบว่าไทยสามารถทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในจีนได้ดี โดยจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลง 31.9% ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 1.5% โดยเฉพาะอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง และสิ่งมีชีวิต/ส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต

ขณะที่การลดภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ อาจทำให้ไทยได้ประโยชน์ลดลงจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) เนื่องจากสินค้าจีน จะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งนี้ ไทยควรกระชับมิตรผู้นำเข้า ควบคู่กับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดให้มีเสถียรภาพ โดย 3 ไตรมาสแรก ปี 62 สหรัฐฯ นำเข้าจีนลดลง 14% ขณะที่นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 2.9% โดยกลุ่มสินค้าส่งออกไทยที่ทดแทนสินค้าจีนได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องมือและส่วนประกอบ เหล็กและอลูมิเนียม และของใช้ในบ้านและสำนักงาน

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งสหราชอาณาจักร (UK) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 62 นั้น น.ส.พิมพ์ชนก ให้ข้อมูลว่า พรรคอนุรักษ์นิยมของนายบอริส จอห์นสัน คว้าชัยชนะได้เสียงข้างมาก 364 จาก 650 ที่นั่งในรัฐสภา ซึ่งการชนะเสียงข้างมากของพรรคอนุรักษ์นิยมสร้างความชอบธรรมในการนำ UK เดินหน้าออกจากสหภาพยุโรป (EU) และคาดว่านายบอริส จอห์นสัน จะเร่งผลักดันร่างกฎหมายการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Withdrawal Agreement Bill) ให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา UK ได้ก่อนวันที่ 31 ม.ค.63 (กำหนดวันเบร็กซิท) ซึ่งจะทำให้ UK มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) 11 เดือน ถึงสิ้นปี 63 ที่สองฝ่ายจะมีการเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง

โดยในด้านเศรษฐกิจ อาจเป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งจากการประเมินเห็นว่า การเจรจาความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสองฝ่ายอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ทันในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน และมีโอกาสที่จะขยายเวลา ซึ่งในร่างกฎหมายการถอนตัวฯ ระบุว่าถ้าสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันก็สามารถขยายเวลาได้มากที่สุด 2 ปี (จนถึงสิ้นปี 65) ในส่วนของความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย สหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จาก EU (รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ามากกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยกระทรวงพาณิชย์มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและสร้างเครือข่ายธุรกิจกับ UK อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการขายสินค้าไทยบนเว็บไซต์ซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ อาทิ Ocado นอกจากนี้ คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดเดินทางเยือนสหราชอาณาจักรปี 63 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน ผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างไทยกับ UK (Joint Trade Committee: JTC) ระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นกลไกการหารือระดับทวิภาคีในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า การทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review) และการต่อยอดไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหราชอาณาจักรต่อไป

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้ากับ UK เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต หากทั้งสองฝ่ายมีความพร้อมและเห็นว่าเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกัน กรมฯ เตรียมจ้างหน่วยงานวิจัยภายนอก ศึกษาประโยชน์และผลกระทบต่อไทย หากมีการทำเอฟทีเอกับ UK รวมทั้งจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ UK เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 20 ของไทย และอันดับที่ 2 จากสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี) โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม – ตุลาคม) การค้ารวมมีมูลค่า 5,285.17 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 3,282.10 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์และอุปกรณ์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และนำเข้า 2,003.07 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ