BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 30.10-30.40 จับตากนง. ปรับลดประมาณการ GDP ไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2019 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.10-30.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.22 บาท/ดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 9.2 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 7.7 พันล้านบาท โดยต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่อง แม้บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสดใสมากขึ้นหลังสหรัฐฯกับจีนบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกและการชนะการเลือกตั้งของพรรคอนุรักษ์นิยมในสหราชอาณาจักรช่วยลดความไน่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทาง Brexit ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยตามคาดและส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายในอนาคตอันใกล้

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า หลังสหรัฐฯ กับจีนสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าขั้นแรกจะส่งผลให้สหรัฐฯ ปรับลดภาษีศุลกากรลง ขณะที่จีนจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นโดยคาดว่าจะมีการลงนามในช่วงต้นเดือน ม.ค.63 นอกจากนี้สหรัฐฯได้ระงับการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เคยมีแผนจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 15 ธ.ค.

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนไม่ได้ระบุว่าจะซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯมูลค่าเท่าใด ภาวะเช่นนี้อาจทำให้นักลงทุนชะลอการเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงก่อนเข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสซึ่งสภาพคล่องการซื้อขายจะบางลง ส่วนเงินปอนด์มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างจำกัดเช่นกันโดยตลาดจะจับตาทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มดอกเบี้ยหลังนายกรัฐมนตรีจอห์นสันประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในช่วงปลายสัปดาห์ คาดว่าการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะมีมติคงนโยบายดอกเบี้ยตามเดิม

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.25% ในการประชุมวันที่ 18 ธ.ค.เพื่อรอประเมินผลของการผ่อนคลายนโยบายในช่วงที่ผ่านมาขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ หลายแห่งเริ่มตรึงดอกเบี้ยและสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าลดความรุนแรงลงบ้างแล้ว โดยตลาดจะจับตาการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ, การปรับลดประมาณการจีดีพี รวมถึงท่าทีที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการดูแลค่าเงินบาทของธปท.ในระยะถัดไปหลังทางการส่งสัญญาณแสดงความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจไม่สอดคล้องกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่งและคู่ค้ารวมถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ